วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563

นาดาว มิวสิค ร่วมกับ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ สร้างเซอร์ไพรส์ รวมตัวกันครั้งแรก!! ในผลงานเพลง "มันดีเลย"

 


เตรียมตัวคึกคักรับปีใหม่ เมื่อ "นาดาว มิวสิค" ร่วมกับ "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" สร้างเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่กับการเปิดตัวซิงเกิลเพลง "มันดีเลย" โดย บริษัท เป๊ปซี่-โคลา (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายมันฝรั่งทอดกรอบ "เลย์" มาร่วมสนับสนุน โปรเจกต์สุดพิเศษในครั้งนี้ งานนี้ เบล-สุพล พัวศิริรักษ์ หนึ่งในทีมผู้บริหาร บริษัท นาดาว มิวสิค จำกัด และ โฟร์ (ประทีป สิริอิสสระนันท์) โปรดิวเซอร์ เตรียมเสิร์ฟความสุขให้แฟน ๆ ทุกคน ด้วยการรวมศิลปินสุดฮอตแห่งปี ได้แก่ เป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร ศิลปินจากค่าย white music จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, Billkin (บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล), PP (พีพี-กฤษฎ์ อำนวยเดชกร) และ PEARWAH (แพรวา-ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์) ศิลปินจากค่าย นาดาว มิวสิค มาสร้างปรากฏการณ์ความสุขในเพลง “มันดีเลย” เพลง POP จังหวะสนุก ที่มีกลิ่นอายดนตรี POP ยุค 70’s

 

 เบล-สุพล กล่าวว่า "จุดเริ่มต้นของเพลงมันดีเลย เริ่มจากทางเลย์มาชวนนาดาว มิวสิค ทำเพลง โดยที่เลย์มีพี่เป๊ก ผลิตโชค เป็นพรีเซนเตอร์หลักอยู่แล้ว เลยเป็นโอกาสที่ดีที่นาดาว มิวสิคจะได้ร่วมงานกับมืออาชีพอย่างพี่เป๊ก ซึ่งโปรเจกต์พิเศษแบบนี้ ทางทีมมองว่า น้อง ๆ จากนาดาวมิวสิคทั้งสามคน ไม่ว่าจะเป็น แพรวา, บิวกิ้น, พีพี น่าจะเหมาะกับการเป็นตัวแทนของความสดใส ถือเป็นการรวมตัวกันครั้งแรกของศิลปินทั้งสี่คน ซึ่งเพลงนี้พี่โฟร์มาเป็นโปรดิวเซอร์ พร้อมทั้งดูแล เรื่องการแต่งทำนองและเรียบเรียงดนตรี โดยเพลงนี้ได้พี่ปู๋-ปิยวัฒน์ มีเครือ มาช่วยเขียนเนื้อร้องให้ ตอบโจทย์ของเพลงที่มีความสนุก ถ่ายทอดฟิลลิ่งความสุขเวลาที่เพื่อน ๆ อยู่ด้วยกัน อะไรที่เคยทำคนเดียวที่ว่าดีแล้ว ถ้าได้ทำด้วยกันหลายคน ยิ่งดีกว่า เหมือนกับเพลงที่ชอบถ้าได้ฟังด้วยกัน น่าจะยิ่งเพราะ หนังเรื่องเดิม ถ้าได้ดูด้วยกัน ก็คงไม่น่าเบื่อ ซึ่งตัวเพลงจะมีกลิ่นอายดนตรี ของเพลงป๊อบในยุค 70 ที่ฟังง่าย มีเสียงปรบมือ มีเสียงคอรัส มีท่อนที่ร้องรวม มีท่อนที่ร้องรับส่งกันไปมา ถือเป็นอีกหนึ่งเพลงที่มีส่วนผสมค่อนข้างลงตัว รอติดตามชม Music Video ได้เร็วๆ นี้ ครับ"




#มันดีเลย
#NadaoMusicXPeckPalitchoke


*************
ข่าวประชาสัมพันธ์โดย งานดีทวีสุข มีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
(PSKฺB-BLOG เป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์เท่านั้น)

วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2563

[บทความ] 15 ปี AKB48 กับไอดอลในตำนานที่สามารถไปพบได้ (ณ เธียเตอร์)

 

AKB48 ฉลองครบรอบ 15 ปี  
วันที่ 8 ธันวาคม 2563 ถือเป็นครบรอบ 15 ปี ของเธียเตอร์ AKB48 ถึงแม้จะไม่มีเธียเตอร์ฉลอง แต่ก็มีการปรับรูปแบบเป็นการพูดคุยผ่านวิดีโอคอลแทน

และก็มีประกาศสำคัญในช่วงต้นรายการก็คือ "คอนเสิร์ตครบรอบ 15 ปี" ที่โตเกียวโดมซิตีฮอลล์ โดยมีทั้งหมด 7 สเตจ รวมเวลาแสดง 15 ชั่วโมง โดยจัดระหว่างวันที่ 22 - 24 มกราคม 2564 โดยรวมสมาชิกทุกรุ่นไว้ด้วยกัน

แต่เมื่อพูดถึงครบรอบ 15 ปีทั้งที หลายคนอาจสงสัยว่า AKB48 คืออะไรกันแน่? บทความนี้มีคำตอบ

สมาชิกรุ่นแรกสุด

AKB48 (อ่านว่า เอ-เค-บี-โฟร์-ตี้-เอด ทับศัพท์: เอเคบีโฟร์ตีเอต) เป็นกลุ่มศิลปินหญิงที่เกิดจากแนวคิดของ ยาสึซิ อากิโมโตะ หรือ อากิพี ที่ตั้งแนวคิดของวงนี้ไว้ว่า "ไอนิอิเกรุ" หรือ "ไอดอลที่คุณสามารถไปพบได้" (Idols you can meet) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 2548 ทั้งนี้ในวันที่ 8 ธันวาคม ปีนั้น ได้มีการประกาศชื่อสมาชิกรุ่นแรกจำนวน 20 คน จากจำนวนกว่า 7,000 คน ซึ่ง 20 คนนั้นถือเป็นทีมเอ (Team A)

การเปิดการแสดงครั้งแรกในสเตจ "Party ga Hajimaru yo" มีผู้ชมการแสดงในวันนั้นจำนวน 7 คน หากไม่นับทีมงานหรือสื่อใดๆ หลังจากนั้นจำนวนผู้ชมการแสดงก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้ซิงเกิลเปิดตัวอย่าง "Sakura no Hanabiratachi" เพลงในตำนานที่บ่งบอกถึงการจบการศึกษาและการเข้าสู่ผู้ใหญ่ วางแผงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ทำยอดขายได้ถึง 22,011 แผ่นในสัปดาห์แรก ติด 10 อันดับแรกของชาร์ตออริคอนประจำสัปดาห์ และอยู่ในชาร์ตถึง 8 สัปดาห์

เดือนตุลาคมปีเดียวกัน AKB48 ได้ออกซิงเกิลกับค่ายเดฟสตาร์ในชื่อ "Aitakatta" (ไอตากัตตะ) หลังจากนั้นจึงได้ปล่อยซิงเกิลมาอีกหลายเพลง และเริ่มมีกิจกรรมต่างๆ เช่น คอนเสิร์ต, กีฬาสี, การเลือกตั้งเซ็มบัตสึ, การแข่งเป่ายิ้งฉุบ (จังเก้น) เป็นต้น

ในปี 2551 AKB48 ได้เปลี่ยนการออกซิงเกิลมาให้กับค่ายคิงส์เรดคอร์ด ตั้งแต่ซิงเกิลที่ 10 "Oogoe Diamond" (โอโกเอะไดมอนด์)  และจากนั้นจึงมีสมาชิกเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการตั้งทีม K ในเดือนเมษายน 2006, ทีม B ในปี 2550, ทีม 4 ในปี 2554 เคยยุบในสิ้นเดือนตุลาคมปี 2555 และกลับมาตั้งใหม่ในเดือนสิงหาคม ปี 2556

ในปี 2557 ก่อตั้งทีม 8 ขึ้น ซึ่งทีมนี้มีความพิเศษคือ เป็นทีมที่ได้รับการสนับสนุนจากโตโยต้า และสมาชิกในทีมมาจากตัวแทนของทั้ง 47 จังหวัดทั่วญี่ปุ่น นั่นหมายความว่า ทีมนี้จะมีสมาชิกเกิน 47 คนไม่ได้ ต้องมีจังหวัดละ 1 คน เสมอ

ด้านวงน้องสาว AKB48 ได้ตั้งวงน้องสาวแรกที่นาโงยะ จังหวัดไอจิ ในชื่อ SKE48 เมื่อปี 2551 จากนั้นจึงตั้งวงน้องสาวอีกวงที่โอซากะในชื่อ NMB48 เมื่อปี 2553 และได้ตั้งวงน้องสาวนอกญี่ปุ่นครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซีย JKT48 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554

สำหรับประเทศไทยนั้น AKB48 เยือนเมืองไทยครั้งแรกเมื่อปี 2558 โดยทำการแสดงในงาน Japan Expo Thailand 2015 ที่เซ็นทรัลเวิลด์ และในปี 2561 สมาชิก AKB48 เยือนเมืองไทยอีกครั้ง และได้เข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 กันยายน ในปีนั้น

อนึ่ง ในปี 2559 ได้มีการจัดตั้งวงน้องสาวในประเทศไทยครั้งแรกในนาม BNK48 ตั้งที่กรุงเทพมหานคร และในปี 2561 ตั้งวงน้องสาวอีกแห่งในไทยโดยมีชื่อว่า CGM48 ตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ ถือเป็นวงน้องสาวนอกประเทศวงแรกที่เป็นวงสาขาของทั้ง AKB48 และ BNK48 ที่ต้นสังกัดอย่าง AKS (ปัจจุบันคือ Vernalossom) อนุญาตให้ทำได้

เอกลักษณ์ของกลุ่ม 48 Group คือแนวคิดที่แตกต่างจากไอดอลอื่น คือ มีโรงละครเป็นของตนเองที่เปิดโอกาสให้สมาชิกผลัดเปลี่ยนกันขึ้นแสดงในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ยังมี "งานจับมือ" ที่แฟนคลับสามารถจับมือกับสมาชิกที่ชื่นชอบเป็นเวลาครั้งละ 8 วินาที

ปัจจุบัน (ณ เดือนธันวาคม 2563) AKB48 มีสมาชิก 100 คน (สมาชิกควบทีม 29 คน) ขณะที่รวมสมาชิกในญี่ปุ่น 6 วง มีทั้งสิ้น 350 คน ส่วนวงน้องสาวต่างประเทศมี 327 คน รวม 677 คน

นี่เป็นแค่บางส่วนของเหตุการณ์สำคัญตลอด 15 ปี ของ AKB48 เท่านั้น หลังจากนี้แล้ว AKB48 จะเป็นอย่างไร ถึงแม้ปีนี้ จะเป็นปีที่เผชิญโควิด-19 และทำให้ AKB48 อยู่ในช่วงขาลง อย่างไรก็ดี 48 Group ก็ยังดำเนินต่อไป หากมีผู้คอยสนับสนุน ซัพพอร์ตพวกเธออยู่ก็คือ "โอตะ" หรือแฟนคลับนั่นเอง

อ้างอิง:-

  • https://prachasangkhroh.fandom.com/th/AKB48
  • http://stage48.net/wiki/index.php/AKB48
  • https://travel.trueid.net/detail/qbAXxabbeV4
  • AKB48総選挙公式ガイドブック 2018 (2018). Japan: Kodansha.

วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563

"แพรวา" โคจรปะทะกับ "แบงค์ ธิติ" ในรอบ 5 ปี ในเอ็มวีเพลง "เจอกันก็พัง ห่างกันก็ร้าย"

ส่งเพลงออกมารัวๆ พร้อมเปิดตัวศิลปินคนล่าสุด PEARWAH (แพรวา ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์) กับลุคใหม่ในซิงเกิลเดี่ยวเต็มตัวครั้งแรก!! โดยค่าย นาดาว มิวสิค ครั้งนี้ แพรวา ขอเปลี่ยนแนว มาร้องเพลงช้า ความหมายบาดใจ ในเพลง "เจอกันก็พัง ห่างกันก็ร้าย" ที่แต่งโดย ฟองเบียร์ นักแต่งเพลงชื่อดัง
และเป็นการโคจรกลับมาพบกันอีกครั้งในรอบ 5 ปีของ แพรวา และ แบงค์ ธิติ มหาโยธารักษ์ กำกับเอ็มวีโดย แคลร์–จรัศยา วงษ์สุทิน ที่เคยสร้างผลงานการกำกับในซีรีส์ "ONE YEAR 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ" โดยทีมงานเนรมิตร้าน YORK BAR สะพานควาย ให้กลายเป็นผับที่ แพรวา ทำงานเป็นนักร้องอยู่ และเป็นที่ที่กลับมาเจอแฟนเก่าอีกครั้ง


แบงค์ กล่าวว่า "ได้มาถ่ายทำเอ็มวีครั้งนี้ สนุกมากครับ นานแล้วที่ไม่ได้มาร่วมงานกับแพรวา ตอนที่พี่ย้ง พี่เบลชวนมา ผมก็ค่อนข้างเซอร์ไพรส์เหมือนกันครับ พี่เขาบอกว่าแพรวากำลังจะมีเอ็มวี เลยเสนอชื่อแบงค์ไปในที่ประชุมนะ ในใจคือดีใจที่ได้มาร่วมงานกับแพรอีกครั้ง แถมเป็นซิงเกิลเดี่ยวครั้งแรกในชีวิตเขาด้วย ก็ถือว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งในผลงานครั้งนี้ รู้สึกดีใจกับแพรด้วย เพราะเขาเป็นคนที่ชอบร้องเพลงมาตั้งนานแล้ว พอครั้งนี้แพรมีเพลงของตัวเอง ผมก็อยากจะมาเล่นเอ็มวีให้ครับ

"สำหรับเอ็มวีเพลงนี้บทบาทที่ได้รับ คือห่างไกลจากตัวผมมากครับ ผมไม่ได้เป็นผู้ชายประมาณนี้ บทค่อนข้างจะแรงเหมือนกัน สำหรับสิ่งที่ทำ แต่ว่าพอตัวเนื้อเพลงตีความออกมาแล้วมันชัดกับภาพและเรื่องในเอ็มวี เราก็จับทางกับคาแรกเตอร์ได้ง่ายครับ อย่างไรก็ขอฝากเอ็มวีเพลง เจอกันก็พัง ห่างกันก็ร้าย ด้วยนะครับ และฝากติดตามผลงานเพลงที่แพรวา ตั้งใจทำออกมาครั้งนี้ด้วยครับ"


แพรวา กล่าวว่า "รู้สึกตื่นเต้นมากค่ะ สำหรับการทำงานมนซิงเกิ้ลเดี่ยว ซิงเกิ้ลแรกในเพลงเจอกันก็พัง ห่างกันก็ร้าย ซึ่งเอ็มวีเพลงนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคู่รักคู่นึงที่เลิกกันไปแล้ว แต่ต้องกลับมาเจอกันอีกครั้งในสถานที่ที่เจอกันครั้งแรก ทำให้ความทรงจำเก่า ๆ หลายอย่างกลับมา ถึงแม้จะมีความทรงจำที่ดีมากมาย แต่สิ่งร้าย ๆ ที่เคยเจอตอนสมัยเจอกันก็ยังอยู่ในความทรงจำ และการกลับมาเจอกันครั้งนี้ ทำให้ตอกย้ำความเลวร้ายที่เคยเจอนั้น ก็ยังเหมือนเดิม ซึ่งพระเอกเอ็มวีเพลงนี้คือ แบงค์ ธิติ เรียกว่าตั้งแต่ฮอร์โมนส์ ซีซั่น 3 เราก็ยังไม่เคยได้ร่วมงานทางการแสดงด้วยกันอีกเลยเลย เอ็มวีเพลงนี้ถือเป็นการกลับมาทำงานด้วยกันในรอบ 5 ปีเลยค่ะ สำหรับแบงค์

"เรื่องสกิลการแสดงถือว่าพัฒนาไปไกลมาก อย่างเวลาก่อนเข้าฉากเราก็จะเล่นมุกกัน ยังหัวเราะตลกโปกฮากันอยู่เลย แต่พอเข้าไปอยู่ในซีนปุ๊บ สายตาแบงค์คืออัดแน่นไปด้วยเรื่องราวของตัวละครนี้ทันที จุดนี้คือต้องยอมรับเลยว่า เออ แบงค์ เขาเก่งขึ้นนะ บางทีแพรยังต้องสูดหายใจ ขอทำอารมณ์แบบนิดหนึ่งก่อน แต่แบงค์คือเข้าบทได้ แบบเป๊ะมากค่ะ สำหรับเพลงนี้ ก็อยากฝากทุกคนเป็นกำลังใจให้แพรด้วยนะคะ ใครอยากรู้ว่าเรื่องราวในเอ็มวีจะเป็นอย่างไร จะสนุกขนาดไหน ติดตามชมมิวสิควิดีโอเพลง เจอกันก็พัง ห่างกันก็ร้าย ได้แล้ววันนี้ ทาง YouTube: Nadao Music พร้อมฟังเพลงนี้ได้ทุกช่องทาง Streaming Platform ค่ะ"

#Nichaphatc
#เจอกันก็พังห่างกันก็ร้าย
#NadaoMusic

*************
ข่าวประชาสัมพันธ์โดย งานดีทวีสุข มีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
(PSK Blog เป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์เท่านั้น)

วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

"ไอซ์-แพรวา" ตัวแทนคนไทย ส่งเพลง "รักติดไซเรน" เวอร์ชั่นพิเศษ ร่วมงานคอนเสิร์ตการกุศล

ไอซ์-พาริส และ แพรวา-ณิชาภัทร 2 ศิลปินจากค่ายนาดาว บางกอก เป็นตัวแทนชาวไทย ส่งคลิปเพลง “รักติดไซเรน” เวอร์ชั่นพิเศษที่ถูกปรับเนื้อร้องใหม่เป็น 8 ภาษาส่งไปร่วมงานคอนเสิร์ตการกุศลออนไลน์ “ONE LOVE Asia” เพื่อระดมทุนให้กับองค์กรยูนิเซฟ รวมดาราศิลปินดัง รวมถึง YouTuber จากทั่วเอเชีย มาส่งความสุขให้กับผู้ชมทาง www.youtube.com/oneloveasia

พาริส อินทรโกมาลย์สุต
© Nadao Music
ไอซ์-พาริส เผยว่า “เพลงรักติดไซเรน ที่ร้องในครั้งนี้เป็นเวอร์ชั่นพิเศษสำหรับงาน one love asia ที่จัดขึ้นเพื่อระดมทุนช่วยเหลือยูนิเซฟในการรับมือกับโควิด-19 ครับ และทำขึ้นมาเพื่อขอบคุณแฟนๆ ทุกคนที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ตอนแรกที่เห็นเนื้อเพลงรู้สึกว่ามันต้องยากแน่ๆ เลย เพราะมีหลายภาษาที่เราไม่คุ้นเคย ซึ่งก็ยากจริงๆ แต่ด้วยความที่เพลงนี้เป็นเพลงของเรา มันเลยง่ายตรงที่เราจำเมโลดี้ได้ และรู้สึกสนุกที่ได้ลองทำเวอร์ชั่นใหม่ของเพลงนี้ เราใช้เวลาในการเตรียมตัวไม่นานมาก เลยต้องฝึกร้องตามไกด์ของภาษานั้นๆ แต่จะมีปัญหาเรื่องสำเนียงที่ตัวเราเองร้องไม่ได้เป๊ะเท่าเจ้าของภาษา ก็มีอัดส่งไปให้ทางทีมช่วยดูว่าร้องแบบนี้ถูกต้องแล้วหรือยังอาจจะไม่ได้เหมือนเจ้าของภาษาเป๊ะ แต่ก็พยายามทำให้ดีที่สุดครับ พอได้ร้องเพลงเวอร์ชั่นนี้แล้วรู้สึกดีใจมากครับ ที่มีแฟนชาวไทยและต่างชาติสนใจเพลงนี้ ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งรู้สึกภูมิใจมากครับ ที่ทำให้คนจากหลายๆ ประเทศได้รู้จักเพลงไทยเพลงนี้ครับ”

ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์
© Nadao Music
แพรวา-ณิชาภัทร เผยว่า “รู้สึกดีใจที่ได้ร้องเพลงนี้ในภาษาต่างๆ เพราะแต่ละภาษามีเสน่ห์ที่แตกต่างกัน พอเป็นภาษาอื่นๆ มาอยู่ในเพลงเราทำให้เพลงน่ารักไปอีกแบบค่ะ แต่ในเรื่องของการทำงานคือยากมากๆ แต่ละภาษาเราไม่คุ้นเคยเลย และมีเวลาในการเตรียมตัวน้อยมาก บางตัวอักษรที่ภาษาไทยไม่มี และการออกเสียงไม่เหมือนภาษาไทย แต่ก็จะมีเจ้าของภาษามาร้องไกด์ให้ฟังก่อนที่จะเข้าห้องอัด และมีการอัดเสียงส่งไปให้เจ้าของภาษาช่วยฟังและคอมเมนท์ด้วยค่ะ ขอขอบคุณแฟนๆ ชาวไทย และแฟนๆ จากทุกๆ ประเทศนะคะที่ให้การตอบรับเพลงนี้เป็นอย่างดี เป็นกำลังใจให้พวกเราต่อไปนะคะ”

ติดตามรับฟังและรับชมคลิปเพลง “รักติดไซเรน เวอร์ชั่นพิเศษ” ได้ในวันพุธที่ 3 มิ.ย. ทาง youtube nadao music

_______________

ข่าวประชาสัมพันธ์โดย งานดีทวีสุข
มีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
(PSKB-BLOG เป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์เท่านั้น)

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563

50 ปี ช่อง 3 กับเส้นทางสู่ทีวีแถวหน้าของไทย

เรื่อง: PSK Founder

25 มีนาคม 2563

เป็นวันที่ประเทศไทยจะต้องบันทึกหน้าประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์อีกครั้ง

โทรทัศน์ระบบที่คุ้นหน้าคุ้นตามาตลอด 65 ปี อย่าง "ทีวีเสาก้างปลา" หรือ "เสาหนวดกุ้ง" หรือเรียกอย่างทั่วไปว่า "ทีวีแอนะล็อก"

ถึงเวลาต้อง "สิ้นสุดลง"

ถ้าหากย้อยกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน สถานีโทรทัศน์สีแห่งที่ 2 ของไทย ที่ชื่อช่อง "3" ถือกำเนิดจากการร่วมทุนของ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด และสกุลมาลีนนท์ โดยจัดตั้ง บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด โดยมี "วิชัย มาลีนนท์" เป็นผู้วางรากฐานและตั้งต้นสถานีแห่งนี้ และยังได้รับเกียรติจากท่านจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เป็นประธานในการเริ่มออกอากาศ ณ เวลา 10:00 น. ของวันที่ 26 มีนาคม 2513

ในระยะแรก ช่อง 3 ออกอากาศได้เพียงแค่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงรวม 18 จังหวัด มีที่ทำการตั้งต้นที่อาคารพื้นที่ 6 ไร่เศษ ในเขตหนองแขม ฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานคร และตั้งสำนักใหญ่อยู่ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ในฝั่งพระนคร

สมัยแรกๆ ช่อง 3 ออกอากาศจำพวกภาพยนตร์ชุดและละครจากต่างประเทศ ต่อมาในปี 2519 ได้ถือกำเนิดละคร "อ่านบท" และ "อัดเทป" เรื่องแรก แทนการออกอากาศสด ในเรื่อง "ไฟพ่าย" นำแสดงโดย ภัทรวดี มีชูธน และ สมภพ เบญจาธิกุล

ปี 2521 ถือเป็นมิติใหม่ของวงการข่าว ด่วยการถ่ายทอดข่าวต่างประเทศผ่านดาวเทียม โดยมีหลักการคือ บันทึกเทปจากฮ่องกงในช่วงเช้ามืดแล้วส่งเทปผ่านเครื่องบินเพื่อออกอากาศในช่วงค่ำ หลังจากนั้นไม่นานก็ได้ร่วมมือกับไทยทีวีสีช่อง 9 ถ่ายทอดข่าวร่วมระหว่างปี 2527 - 2529 หลังจากนั้นก็แยกทางให้ช่อง 3 ออกอากาศข่าวด้วยตนเอง

ภาพยนตร์ต่างประเทศหลายเรื่องล้วนยังอยู่ในความทรงจำของผู้ชมตลอดมา ฝั่งอเมริกามี The A-Team, ฝั่งฮ่องกง/ไต้หวัน มี เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้, เปาบุ้นจิ้น, กระบี่ไร้เทียมทาน จนมาถึงยุคละครเกาหลี แดจังกึม, ทงอี เป็นต้น ล้วนสร้างกระแสต่อผู้ชมมากมาย

เรื่องของละคร ผมอาจไม่ได้พูดมากนัก แต่ขอสรุปสั้นๆ ละกัน

ภายหลังละครไฟพ่ายแล้ว ก็มีละครที่สร้างกระแสมากมาย ที่จดจำกล่าวขานมากที่สุดมีทั้ง "สงครามเก้าทัพ", "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช", "วนาลี", "สี่แผ่นดิน" จนมาถึงละครยุคใหม่ "สะใภ้ไร้ศักดินา", "สุดรักสุดดวงใจ", "สวรรค์เบี่ยง", "สูตรเสน่หา", รอยไหม", "ทองเนื้อเก้า", ละครชุด "สี่หัวใจแห่งขุนเขา", ละครชุด "สุภาพบุรุษจุฑาเทพ", "ข้าบดินทร์", "นาคี" จนมาถึง "บุพเพสันนิวาส" ที่สร้างกระแสเป็นละครที่มีผู้ชมมากที่สุดในทีวีดิจิทัลเมืองไทย และยังสร้างปลุกกระแสในการท่องเที่ยวสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ของไทยด้วย

ละครสำหรับเยาวชน ประกอบด้วยหลายเรื่องที่ยังอยู่ในใจของทุกคน ทั้ง "6/16 ร้ายบริสุทธิ์ > น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์" หรือจะเป็นละครแนวสร้างสรรค์สังคมอย่าง "วัยแสบสาแหรกขาด" ซึ่งทำมาแล้วทั้งสองภาค ก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน

ด้านรายการประเภทอื่นๆ มีหลายรายการที่เรตติ้งสูง หรือกระแสโด่งดังกลายเป็นที่กล่าวขวัญมากมาย พอสังเขปได้ดังนี้

"เณรน้อยเจ้าปัญญา" การ์ตูนญี่ปุ่นช่องทีวีอาซาฮิ ที่อยู่คู่กับช่อง 3 มานานถึง 33 ปี ที่มีคติสอนใจทุกตอน ตอนนี้ก็ยังออกอากาศอยู่

"ฝันที่เป็นจริง" รายการของบริษัทบอร์น ของ ไตรภพ ลิมปพัทธ์ ที่เสนอละครสั้น และสัมภาษณ์บุคคลที่ต่อสู้กับโชคชะตาอันยากลำบาก รายการนี้ถือว่าเป็นใบแจ้งเกิดให้กับไตรภพเลยทีเดียว

เช่นเดียวกันกับ "ทไวไลท์โชว์" รายการวาไรตี้รูปแบบใหม่ ที่ออกอากาศยาวนานถึง 10 กว่าปี แถมช่วงระยะหนึ่งได้ขยายเวลามากถึง 3 ชั่วโมง ปัจจุบันถึงแม้เปลี่ยนชื่อเป็น "ทูเดย์โชว์" แต่เอกลักษณ์ที่ไม่เปลี่ยนคือ ช่วงทอล์กโชว์ ที่ตอนท้ายจะมอบรูปภาพขนาดใหญ่ให่แขกรับเชิญทุกคน

"สีสันบันเทิง" เป็นอีกหนึ่งรายการที่อยู่คู่ช่อง 3 มาตลอด นำเสนอผลงานละคร เบื้องหลังละคร ข่าวดาราช่อง 3 ให้ได้ติดตามก่อนเข้าละครหลังข่าว

"สมาคมชมดาว" รายการแรกที่โพลีพลัสป้อนให้ช่อง 3 เป็นวาไรตี้ทอล์กโชว์คุยกับดาราที่มีชื่อเสียง ซึ่งถึงแม้ไม่มีแล้ว แต่ก็มีรายการแนวเดียวกันมาสานความสนุกอย่างต่อเนื่องทั้ง "รักเอย", "ราตรีสโมสร", "ฉันค้างคืนกับซุปตาร์" จนถึง "3 แซ่บ" ในปัจจุบัน

"ตีสิบ" ถือเป็นอีกหนึ่งรายการที่ยาวนานถึงปัจจุบัน มีทั้งสนทนา ร่วมไปถึง "ดันดารา" ที่สร้างดารามากมายประดับวงการ

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายรายการตามวาระ ที่สร้างความสุขและความสนุกมากมาย

ด้านรายการข่าว ช่อง 3 ถือเป็นผู้นำด้านข่าวในช่วงยุค 2000 เปิดรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" จนได้รับความนิยมสูง จากการจัดรายการของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา และมีช่วงหนึ่งที่ขยายเวลาถึง 3 ชั่วโมงเศษ ตอนหลังๆ ก็มีคู่แข่งมากมาย อีกหนึ่งรายการคือ "ข่าว 3 มิติ" ของกิตติ สิงหาปัด ซึ่งอยู่มายาวจนถึงปีที่ 13 แล้ว แต่ยังคงเป็นข่าวรอบดึกที่ได้รับความนิยมในด้านเนื้อหา

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ขอเอ่ยถึงนักแสดงที่มีชื่อเสียง ทั้งเก่าและใหม่ ที่สร้างบุคลากรทางด้านการแสดงตั้งแต่ตั้งโรงเรียนฝึกการแสดง จนถึงนักแสดงยุคกลาง และนักแสดงหน้าใหม่ ที่หลายๆ คนต่างชื่นชอบ

อวสานช่อง 3

ถึงแม้ในปี 2557 - 2562 ช่อง 3 จะมี 4 ช่อง ซึ่งมากที่สุดในบรรดาทีวีภาคพื้นดิน ช่อง 3 แฟมิลี, ช่อง 3 เอสดี คือสองช่องที่ยอมปิดตามสภาพเศรษฐกิจ

ในปี 2563 ก้าวสู่ "50 ปี" ช่อง 3 เอชดี จะกลายเป็นช่องดิจิทัลเต็มตัว ภายหลังสัมปทานระหว่างบีอีซี และ อสมท สิ้นสุด

เท่ากับว่า 50 ปี ที่ วิชัย มาลีนนท์ ผู้ล่วงลับ ผู้วางรากฐานช่อง 3 ให้แข็งแรงมั่นคง จะสิ้นสุดลงด้วย

นับจากนี้ไป ช่อง 3 เอชดี ด้วยโลโก้เดิมมาจากแอนะล็อก แต่เพิ่มความแวววาว และเติม HD ข้างท้าย จะยังคงสร้างความสุขให้ผู้ชมทั้งประเทศอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเศรษฐกิจและสภาวะทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ขอเชิญทุกคน ร่วมอำลาช่อง 3 แอนะล็อกทีวีช่องสุดท้ายของไทย ด้วยการติดแฮชแท็ก "#Goodbye3Analog" ลงบนสื่อสังคมออนไลน์ของคุณ เพื่อร่ำลาตำนาน 50 ปี สู่ปฐมบทใหม่ที่ช่อง 33

วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563

ผลด่วน "ร้อยเพลงรักกามิ" ครั้งที่ 1

คนไทยหัวใจวัยรุ่นทั้งหลาย

"ประชาสังเคราะห์" จะทำการประกาศ "ผลด่วน" ครั้งที่ 1 สำหรับกิจกรรม "ร้อยเพลงรักกามิ" ซึ่งได้รับจนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2663 เวลา 20:00 น.

โดยที่ผ่านมา เราได้เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ส่งผลโหวตเพลง Kamikaze ที่แต่ละคนชื่นชอบมากที่สุด ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราได้เก็บรวบรวมไว้จำนวน 136 โหวต หรือ 1,360 คะแนน โหวตให้กับเพลงที่ชื่นชอบจำนวนเกือบ 190 บทเพลงด้วยกัน

แต่ด้วยกติกาของร้อยเพลงรักกามิ เราได้คัดกรองตรวจสอบให้ถี่ถ้วน ซึ่งมีข้อสำคัญคือ "จะใส่ชื่อเพลง, นักร้อง, อัลบั้ม, ปีที่วางแผงหรือออกซิงเกิล หรือจะใส่แค่ชื่อเพลงก็ได้ไม่ว่า" แต่มีบางคนทำผิดกติกาคือ ไปโหวตเพลงนอกขอบเขตที่ระบุไว้ในกติกาแบบฟอร์ม เช่น "หายใจเป็นเธอ", "ปู" ซึ่งมิใช่เพลงของ Kamikaze เป็นเพลงที่ออกก่อนปี 2550 ส่วน "จุ๊บ จุ๊บ" ถึงแม้ออกตอนปี 2550 แต่ก็ไม่ถือเป็นเพลงค่าย Kamikaze เนื่องจากออกในสังกัด Melodiga (อันที่จริงก็มีลงในอัลบั้ม Forword to U ปี 2551 ด้วย) หรือแม้แต่ "Connect", "เธอเหนื่อยไหม" ของมิณทร์ ถือว่าไม่ใช่เช่นกัน เพราะออกตอนอยู่ค่ายอาร์เอสหลัก และอีกหนึ่งเพลงที่เราปวดหัวอย่างมากคือ "ชอบความเหงา" ซึ่งเป็นเพลงของ สวีต ดี ที่ไม่ได้ปล่อย แต่มีคนลงโหวตจนได้ ทำให้เราต้องตัดออกไป

ทั้งหมดนี้ เราได้พิจารณาและรวบรวมคะแนนเป็นความลับ และถือเป็นข้อสรุปว่า จะประกาศ "20 เพลงที่โหวตมากที่สุด โดยไม่เรียงลำดับคะแนน" ซึ่งมีดังนี้:

1.  MSN(^_^) - เฟย์ ฟาง แก้ว
2. ขัดใจ - รวมศิลปิน
3. คำถาม - เฟย์ ฟาง แก้ว
4. แค่ที่รัก - 3.2.1
5. ฉากเรียกน้ำตา - สวีต ดี
6. ใช่เธอ - ป๊อปปี้, ฟาง
7. ตกหลุมรัก - หวาย
8. ตามใจปาก - ขนมจีน
9. ปากดี ขี้เหงา เอาแต่ใจ - มิล่า
10. เพลงรัก - รวมศิลปิน
11. เพื่อนกันฉันรักเธอ - รวมศิลปิน
12. ภาวะโลก LUV - เซเว่น เดส์
13. ไม่ใช่อิจฉา - เฟย์ ฟาง แก้ว
14. ระหว่างเพื่อนกับแฟน - ขนมจีน
15. รักฉันเรียกว่าเธอ - รวมศิลปิน
16. รักได้รักไปแล้ว - โฟร์ - มด
17. เสียใจแต่ไม่แคร์ - หวาย
18. ห่างกันสักพัก - หวาย
19. เหงาปาก - เค-โอติก
20. อย่ามากมาย - ซิสก้า

และนี่ก็คือรายชื่อ 20 เพลงข้างต้น ที่มีคะแนนโหวตสูงสุด ในขณะนั้น

สำหรับใครที่ยังไม่ได้โหวต สามารถลงคะแนนได้ที่ bit.ly/kz100songs ก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เวลา 20:00 น. และจะประกาศ 100 เพลง Kamikaze ในดวงใจตลอดกาล ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ทาง pskb-blog.blogspot.com และทุกสื่อออนไลน์ ของประชาสังเคราะห์

เรายังรับเสียงโหวตจากทุกคน

ทีมงานประชาสังเคราะห์

#ร้อยเพลงรักกามิ
#KamikazeParty2020
#โตมากับกามิ

วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

"ร้อยเพลงรักกามิ" ร่วมโหวตเพลง Kamikaze ในดวงใจ




จากนี้ไปอีก 100 วัน เราจะเจอกับความคิดถึงอีกครั้ง

ประชาสังเคราะห์ และพันธมิตร ชวนคุณร่วมโหวต "ร้อยเพลงรักกามิ" ที่คุณคิดถึงและโดนใจมากที่สุด เข้าอยู่ใน 100 สุดยอดเพลง Kamikaze ตลอดกาล

เริ่ม 14 กุมภาพันธ์ - 15 พฤษภาคม 2563 ประกาศผล 22 พฤษภาคม 2563 ที่เพจ ประชาสังเคราะห์ และ pskb-blog.blogspot.com รวมถึงทุกโซเชียลมีเดียของ PSK

ติดตามกติกาได้ที่แฟนเพจ ประชาสังเคราะห์ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 20:00 น. หรือเข้าชุมชนคนสังเคราะห์เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
คลิกที่นี่ >> https://www.facebook.com/groups/354198891961592

หมายเหตุ: โปรเจกต์นี้สร้างขึ้นโดย "คนไทยหัวใจวัยรุ่น" ทุกคน แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้บริหาร พนักงาน บมจ.อาร์เอส หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ แต่อย่างใด

#ร้อยเพลงรักกามิ

วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

"ชนชั้นปรสิต" พลิกประวัติศาสตร์ คว้า 4 รางวัลใหญ่ออสการ์


"And the Oscar goes to... Parasite"

เวลา 2 ทุ่ม 26 นาที ของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 ตามเวลาท้องถิ่นของลอสแอนเจลิส นับเป็นนาทีประวัติศาสตร์ของรางวัลภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง "ออสการ์" อีกครั้งหนึ่ง...

"Parasite" หรือชื่อไทยคือ "ชนชั้นปรสิต" คว้ารางวัลใหญ่ที่สุดของงานในคืนนั้น กับ "รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture)"

นับเป็นประวัติศาสตร์ในงานประกาศรางวัลออสการ์ ที่ภาพยนตร์จากเอเชีย คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเป็นเรื่องแรก และยังเป็นภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษเรื่องแรก ที่คว้ารางวัลใหญ่นี้ไปครอง

ไม่ใช่เพียงแค่นี้ Parasite ยังคว้ารางวัลอีก 3 รางวัล อย่าง ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และ ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม

พง จุน-โฮ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เคยกล่าวไว้ในตอนรับรางวัลลูกโลกทองคำว่า "ถ้าผู้ชมหนังก้าวข้ามกำแพงที่สูงกว่าหนึ่งนิ้ว หรือที่เรียกว่าคำบรรยาย (Subtitle) ก็จะค้นพบภาพยนตร์ที่ดี และยอดเยี่ยมอีกมากมาย"


สำหรับ "Parasite" นำแสดงโดย  ชง คัง-โฮ, จัง ฮเย-จิน, ชเว อู-ชิก, พัก โซ-ดัม, อี ซอน-กยุน, พัก ซอ-จุน และอีกมากมาย เข้าฉายในเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 เข้าฉายในไทยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดยมงคลภาพยนตร์ เสียงพากย์ไทยโดยพันธมิตร รายได้ทั่วโลกรวมกว่า 165.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลจาก Box Office Mojo) หรือประมาณกว่า 5,200 ล้านบาท

ข้อมูล: ABC News, Thai PBS