วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ช่องทีวีไทยในความทรงจำ [สัปดาห์ทีวี 2021]


นับตั้งแต่เริ่มมีสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2498 มีหลายช่องรายการ และหลายสถานีโทรทัศน์ ทั้งทีวีภาคพื้นดิน ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี รวมไปถึงช่องทีวีในระบบอินเทอร์เน็ต ที่บางช่องปิดตัวลงไป ทั้งมีประกาศอย่างเป็นทางการ และบางช่องปิดตัวไปอย่างเงียบ ๆ ก็มี

แต่ทว่าวงการโทรทัศน์ของไทยในขณะนี้ กำลังปรับตัวกับการเข้ามาของวิดีโอสตรีมมิงมากมาย ทั้งไลน์ทีวี, เน็ตฟลิกซ์, วีทีวี, วิว, อ้ายฉีอี้, ป๊อปส์ หรือเจ้าใหม่อย่าง ดิสนีย์พลัสฮอตสตาร์ ที่กำลังจะช่วงชิงการบริโภคและชีวิตประจำวันของคนไทยจากที่เคยดูทีวีแต่ก่อน มาเป็นการจับสมาร์ทโฟนเปิดแอปทีวีหรือชมย้อนหลังผ่านวิดีโอสตรีมมิงแทน

แต่ถ้าหลายคนคงนึกถึงไม่ได้ นั่นคือ ช่องทีวีในอดีต ที่มีรายการที่หลากหลาย ตั้งแต่รายการข่าว สาระ บันเทิง หรือแม้แต่รายการขายของ ทั้งขายตรงและแอบแฝง บางช่องอาจหารายได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น โฆษณา กิจกรรมการตลาด ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนั้น ก็เพื่อความอยู่รอดของแต่ละบริษัทเจ้าของช่องรายการ แต่ในบางช่อง ถูกปิดตัวลงเนื่องจากกรณีต่าง ๆ เช่น สั่งให้ปิดช่องเนื่องจากเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

และนี่คือกรณีศึกษาของ "บางส่วน" จากทีวีในอดีต ทุกแพลตฟอร์ม ทั้งทีวีภาคพื้นดิน ช่องดาวเทียม และบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งครอบคลุมทั้งช่องทั่วไป ช่องข่าว ช่องกีฬา ช่องบันเทิง และอีกมากมาย

 

ไทยสกายทีวี (2534-2540)

คนยุค 90 ที่มีเงินเดือนสูงคงรู้จักชื่อนี้ดี ไทยสกายถือกำเนิดขึ้นในปี 2534 โดย "คีรี กาญจนพาสน์" เจ้าของกลุ่มบริษัทธนายง ซึ่งให้บริการผ่านระบบ MMDS (เสาเดือยหมู) ต่อมาเพิ่มช่องทางผ่านดาวเทียม โดยหลังสุดมีจำนวนช่องที่ออกอากาศ 12 ช่อง เช่น CNN, BBC World, TNT&Cartoon Network, ESPN และช่องรายการที่ผลิตเอง ส่วนใหญ่เป็นข่าวระดับท้องถิ่น ภาพยนตร์ไทยเก่า ๆ ละครไทยเก่า ๆ เป็นต้น ไม่เพียงเท่านี้ ในปี 2535 ไทยสกายยังเป็นเจ้าภาพในการจัดการประกวดนางงามจักรวาลปี 1992 อีกด้วย

ในช่วงสถานการณ์วิกฤตต้มยำกุ้ง ไอบีซีและยูทีวีต่างพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ไทยสกายกลับด้าน สมาชิกลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม 2540 ไทยสกายถูกชินแซทเทิลไลท์ตัดจอดำเนื่องจากค้างค่าเช่าสัญญาณดาวเทียม ทำให้ต้องปิดตัวลงไปในที่สุด

 

ไอบีซี และ ยูทีวี (2532-2541)

นอกจากไทยสกายแล้ว จะพูดถึงเจ้าใหญ่ 2 เจ้าอย่างไอบีซีและยูทีวีไม่ได้ ไอบีซี ถือกำเนิดจากนายทุนแห่งกลุ่มชินฯ อย่าง "ทักษิณ ชินวัตร"

 

พีทีวี (ปลายปี 2550-มีนาคม 2551) และ สถานีประชาธิปไตย/สถานีประชาชน (2552-2553)

ช่องการเมืองระยะสั้น ๆ ที่ก่อตั้งโดยบริษัท เพื่อนพ้องน้องพี่ จำกัด โดยคนในวงการเมืองถึง 6 คนด้วยกัน ซึ่งแต่เดิมจะเริ่มออกอากาศในวันที่ 1 มีนาคม 2550 แต่ทว่ากลับไม่สามารถออกอากาศตามแผนได้ ทำให้ต้องไปจัดรายการให้กับช่อง MVTV แต่สัญญาณดาวเทียมถูกขัดจังหวะ เชื่อว่าน่าจะเป็นฝีมือของทหารที่ส่งสัญญาณรบกวนการออกอากาศรายการของพีทีวีนั้นเอง

ต่อมาในภายหลังจึงสามารถออกอากาศอย่างเต็มรูปแบบได้ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน แต่เนื่องจากงบประมาณในการบริหารไม่เพียงพอ รวมไปถึงเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งได้ถึงจุดสูงสุดแล้ว คือมีความเป็นประชาธิปไตย ได้รัฐบาลใหม่แล้ว จึงยุติการออกอากาศลง โดยแถลงข่าวปิดช่องเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2551

ช่วงหลังพีทีวีปิดตัว "เพื่อนพ้องน้องพี่" ได้มีโอกาสร่วมผลิตรายการให้กับช่อง 11 ในชื่อ "ความจริงวันนี้" โดยเริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 และถูกระงับออกอากาศลงตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม ปีเดียวกัน

ปี 2552 บริษัท ดี-สเตชั่น จำกัด ของ "อดิศร เพียงเกษ" ได้จัดตั้ง "สถานีประชาธิปไตย" หรือ DTV โดยเนื้อหาส่วนใหญ่นั้นเป็นรายการส่งเสริมประชาธิปไตย นอกนั้นเป็นรายการข่าว ปกิณกะ และศิลปวัฒนธรรม

โดยรายการ "ความจริงวันนี้" ได้เข้ามาอยู่ใน DTV นั้นด้วย นอกจากนี้ สถานีแห่งนี้ยังมีรายการมากมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมือง ด้วยนักการเมืองและนักวิจารณ์ทางการเมือง

DTV ถูกระงับออกอากาศเนื่องจากมีเนื้อหาที่ทำให้เกิดความไม่สงบของบ้านเมือง ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2552 โดยไทยคมได้ตัดสัญญาณจอดำโดยอาศัยตาม พรก.ฉุกเฉิน ในท้องที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมไปถึงได้เข้าไปปิดกั้นเว็บไซต์ของ DTV ด้วย

แต่การดำเนินงานนั้นยังไม่เสร็จสั้น คณะผู้บริหาร ผู้ประกาศ และพิธีกรชุดเดิม ได้ดำเนินการต่อในนาม "สถานีประชาชน" โดยเช่าช่องสัญญาณจากดาวเทียมต่างประเทศแทน ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2552 จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ช่องนี้ได้ปิดตัวลงไปเนื่องจากถูกสั่งปิดโดยรัฐบาล ซึ่งมีผลมาจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง นำไปสู่เหตุเพลิงไหม้โรงภาพยนตร์สยาม, เซ็นทรัลเวิลด์ และที่อื่น ๆ โดยรวมเวลาออกอากาศ 1 ปีพอดี

 

Asia Update/TV 24 (2553-2561)

หลังจากสถานีประชาชนถูกปิดตัวลง ได้มีช่องทดแทนในชื่อ "Asia Update" (เอเชียอัปเดต) ซึ่งก่อตั้งโดยสำนักข่าว DNN โดยเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 และถูกสั่งปิดภายใต้กฎอัยการศึก ในช่วงก่อนรัฐประหาร 2557 นั้นเอง ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น TV 24 ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน ปีเดียวกัน

จนกระทั่งวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 TV 24 ปิดตัวลง และหันมาทำทีวีออนไลน์ผ่านเว็บไซค์ยูทูบแทน แต่ในปี 2563 ได้เปลี่ยนชื่อกลับไปเป็น Asia Update ตามเดิม

TV 24 ถูกระงับการออกอากาศมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือนเมษายน 2558 เป็นเวลา 7 วัน เนื่องจากมีเนื้อหาขัดต่อประกาศ คสช. และในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2560 เป็นเวลา 30 วัน เนื่องจากมีเนื้อหาบางรายการขัดต่อเงื่อนไขอนุญาตประกอบกิจการ


T News (2553-2559)

สำนักข่าวทีนิวส์ ของ "สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม" ได้จัดตั้งช่องข่าวผ่านทีวีดาวเทียมขึ้นในปี 2553 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 ปิดตัวลง โดยมีช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทีนิวส์ได้ร่วมมือกับไบรท์ทีวี ผลิตรายการข่าวอย่าง "สดลึกจริง" และ "เจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึก" ก่อนที่ไบรท์ทีวีจะปิดตัวลงในปี 2561

ปัจจุบันสำนักข่าวทีนิวส์ อยู่ภายใต้เครือเนชั่น ส่วนสนธิญาณ ไปจัดตั้ง "TOP NEWS" (ท็อปนิวส์) โดยนำผู้ประกาศข่าวเนชั่นบางส่วนมาอยู่ในช่องนี้ และเริ่มออกอากาศเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

 

FAN TV (10 ตุลาคม 2551-31 มกราคม 2564)

"ใกล้ชิดเหมือนสนิทแฟน" ช่องดาวเทียมช่องแรกสุดของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (ไม่นับรวม Money Channel) ที่นำเสนอเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง รวมไปถึงรายการวาไรตี้ต่าง ๆ มากมาย ภายหลังได้เพิ่มเพลงไทยสากลเข้าไปด้วย และนับแต่ช่อง GMM Music ปิดตัวลง ได้มีการเปลี่ยนชื่อช่องเป็น FAN Music ภายหลังกลับมาใช้ชื่อแฟนทีวีเช่นเดิม

รายการที่เคยออกอากาศทางฟรีทีวีอย่าง "เพลงติดดาว", "คลื่นแทรก คลื่นแซ่บ" ก็ย้ายมาอยู่ช่องแฟนทีวีด้วย

ยุคหลัง ๆ เป็นรายการเพลงแบบ Non-Stop มีทั้งเพลงใหม่และเพลงเก่า ทั้งสตริงและลูกทุ่ง จนในที่สุด แฟนทีวีได้ยุติการออกอากาศในคืนวันที่ 31 มกราคม 2564

 

Bang Channel (2 กุมภาพันธ์ 2552-31 ธันวาคม 2558)

ช่องนี้ผลิตโดยจีเอ็มเอ็มทีวี โดยแต่เดิมช่องนี้ออกอากาศทางจานเหลืองดีทีวี ช่อง 11 ในชื่อ "Bang TV" ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Bang Channel ในเวลาต่อมา โดยรายการที่ออกอากาศประกอบด้วย รายการและละครของจีเอ็มเอ็มทีวี ที่รีรันมาจากฟรีทีวี และรายการ Original เช่น "หวานเกล้าเจ้าเจี๊ยว", "แตกฟอง LIVE", "A-Port", "The Artist", "รักจริงปิ๊งเก้อ", "มาจิเด๊ะ! เจแปน" รวมไปถึง "เทยเที่ยวไทย" ก็เกิดมาจากช่องแบงด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันออกอากาศอยู่ที่ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ทุกคืนวันอาทิตย์


GTH On Air (24 พฤษภาคม 2554-31 ธันวาคม 2558)

ช่องวาไรตี้ที่ผนึกกำลังกันระหว่างแกรมมี่, จีทีเอช และนิตยสารอิมเมจ ในชื่อ "Play Channel" (เพลย์ แชนแนล) โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ในยุคแรกเป็นรายการปกิณกะ พูดคุย ท่องเที่ยว ฯลฯ รายการเด่นในยุคนั้นเช่น "ภาษาพลาซ่า", "ตามไปดู", "OMG", "เห่าหอนนอนไม่หลับ", "อาสาสนุก" จนกระทั่งมีรายการประจำวันอย่าง "สุภาพสตรีหมายเลข 1" และ "Play Gang"

ยุคหลัง ๆ เริ่มมีรายการที่เกี่ยวข้องกับจีทีเอชมากขึ้น อย่าง "สถานี GTH", "Feel Good Be Good" รวมไปถึง "The Artist Series" ในโอกาสต่าง ๆ และในปี 2556 เปลี่ยนชื่อเป็น "GTH On Air" (จีทีเอชออนแอร์" โดยสามารถรับชมผ่านกล่อง GMM Z เท่านั้น (แต่ในทางอ้อมอาจหารับชมผ่านเคเบิลทีวีชั้นนำ) โดยจุดขายมาจาก ฮอร์โมนส์ภาคใหม่นั้นเอง ที่ต้องซื้อกล่องแซทเพื่อดูซีรีส์ฮอร์โมนส์ แต่ภายหลังได้เพิ่มช่องทางทีวีดิจิทัลช่องจีเอ็มเอ็ม แชนแนล (จีเอ็มเอ็ม 25 ในปัจจุบัน) นอกจากนี้ ละครที่ออกอากาศทางทีวีดิจิทัล จะออกอากาศคู่ขนานไปด้วย แต่ความพิเศษคือ GTH On Air จะออกอากาศในรูปแบบ Uncut และมีเพลงจากละครให้ได้ฟังได้ชมหลังจบตอนอีกด้วย

ช่องนี้ปิดตัวลงพร้อมกับการยุติการดำเนินงานของจีทีเอช โดยวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ออกอากาศวันสุดท้าย โดยรายการสุดท้ายที่ออนแอร์คือ ภาพยนตร์ "15 ค่ำ เดือน 11" จากนั้นจึงเป็นคลิปรวมความประทับใจของทั้งช่อง GTH On Air (มาในเพลงอยากหยุดเวลา) และค่ายหนังจีทีเอช (มาในเพลงหนังไม่จบจากหัวใจ) ก่อนจะอำลาด้วยคำว่า "ขอบคุณที่รักกัน"

 

You Channel/Series Channel/SAT Variety (1 สิงหาคม 2552-2562)

ช่องเพลงสตริงในเครืออาร์เอส เปิดตัวพร้อมกับช่องสบายดีทีวี โดยมีรายการมากมายทั้งรายการจัดสด หรือรายการแนววัยรุ่น ยกตัวอย่างเช่น "You Live", "You Release", "Hi School", "Club Hi Friend", "Gossip Teen News" ในยุคหลังเช่น "You เหงา", "เพลงสดสด", "VAMP Family", "Play Store", "กามิติดมัน" รวมไปถึง "21 วัน ฉันรักนาย" ซีรีส์เรื่องแรกและเรื่องเดียวของกามิกาเซ่ นำแสดงโดยกามิรุ่นใหม่มากมาย นำโดย เติร์ด, มาร์ค, อิสเบล เป็นต้น

You Channel ปรับรูปแบบเป็นเพลงสตริงแบบ Non Stop จนยุติการออกอากาศเมื่อ 2 กรกฎาคม 2561 โดยเปลี่ยนเป็นช่องซีรีส์ 24 ชั่วโมง ที่รีรันมาจากช่อง 8 และเปลี่ยนเป็น "SAT Variety" ช่องทางเลือกสำหรับรับชมรายการย้อนหลังของช่อง 8 และช่องดาวเทียมอื่น ๆ แต่ต้องปิดตัวลงอย่างเงียบ ๆ ในช่วงกลางปี 2562

 

สบายดีทีวี (1 สิงหาคม 2562-31 พฤษภาคม 2563)

อีกช่องที่เปิดตัวพร้อม ๆ กับช่อง You Channel เป็นช่องแนวเพลงลูกทุ่งฟังสบายจากค่ายอาร์สยาม เสริมด้วยรายการข่าวบันเทิงและวาไรตี้ต่าง ๆ รายการด่นของช่องอาทิ "บุษบาวาไรตี้", "สดชื่น", "บันเทิงมื้อเที่ยง", "กุ๊กกิ๊ก" ฯลฯ รวมไปถึงได้จัดคอนเสิร์ตสัญจรมาแล้วหลายปี หลายครั้ง

แต่ภายหลังได้ปรับเปลี่ยนเป็นเพลงหลายแนวมากขึ้น ไม่จำกัดเพียงลูกทุ่งอีกต่อไป แต่สุดท้ายได้ยุติการออกอากาศลง โดยเปลี่ยนมาเป็นช่อง RS Mall Channel ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นมา


ทีแชนแนล (1 กุมภาพันธ์ 2548-14 กรกฎาคม 2553)

"มีเดีย ออฟ มีเดียส์" เจ้าของรายการลูกทุ่งชื่อดังอย่าง "เวทีไท" ได้ก่อตั้งทีแชนแนลขึ้น โดยยุคแรกออกอากาศทาง MVTV3 โดยออกอากาศสดครึ่งวัน รีรันครึ่งวัน ภายหลังลดเวลาออกอากาศสดเหลือ 8 ชั่วโมง รีรัน 2 ครั้ง ต่อมาได้ย้ายไปอยู่จานดำซีแบนด์ และได้ลงจอยูบีซี-ทรู (ทรูวิชั่นส์ในเวลาต่อมา) ในปี 2549 ที่ช่อง 58 แต่ทว่าในปี 2550 ทีแชนแนลเตรียมปิดตัวลง ทรูวิชั่นส์จึงยื่นข้อเสนอให้ออกอากาศต่อเป็นเวลา 3 ปี แบบ Exclusive ถึงปี 2553

ภายหลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างของมีเดียส์ โดยย้ายธุรกิจสื่อทั้งหมดให้กับบริษัทลูกอย่าง "มีเดีย สตูดิโอ" แต่เมื่อใกล้หมดสัญญากับทางทรูวิชั่นส์ มีเดีย สตูดิโอ กลับไม่ต่อสัญญา กลายเป็นเพลงลูกทุ่ง Non-Stop จนกระทั่งเปิดตัวช่อง TLTV ไทยลูกทุ่ง (ภายหลังเป็นช่อง Thaiไทย) ทีแชนแนลจึงยุติลงตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2553 เป็นต้นมา

 

ช่องในเครือไลฟ์ ทีวี/สไมล์ เน็ตเวิร์ค (2548-2560)

แต่เดิมเจ้าของบีเอ็นที ทีวี โดยได้จัดตั้ง "Smile Network" ขึ้นตั้งแต่ปี 2548 โดยมีช่องรายการแรกเริ่ม 6 ช่อง ได้แก่ Movie 1, Movie 2, EDN, POP, รักไท ทีวี และ World Fashion Thailand

ในปี 2549 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น "ไลฟ์ ทีวี" (Live TV) ตามบริษัทแม่คือ ไลฟ์ อินคอร์ปอเรชั่น ทำให้ในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน "อิทธิพัฒน์-" ได้ตั้งบริษัทใหม่ในชื่อ บริษัท มีเดีย คอมมูนิเคชั่น เน็ทเวอร์ค จำกัด และได้ตั้ง Smile Network ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

โดย Smile Network ใหม่นี้ ประกอบด้วย 8 ช่องรายการ โดยแบ่งเป็น 5 ช่องหลัก คือ Movie Mania ช่องหนังและซีรีส์, Popper ช่องเพลงป็อป, รักไท ทีวี ช่องเพลงลูกทุ่ง, Panorama 07 ช่องสารคดี และ World Fashion Thailand ช่องแฟชั่น อีก 3 ช่องนั้น คือช่องจาก MTV จำนวน 3 ช่องรายการ MTV Asia, VH1 และ Nickelodeon แต่ไม่นานก็ยุติการดำเนินงานลง

ส่วนไลฟ์ทีวีได้เริ่มปรับปรุงช่องรายการหลายต่อหลายครั้ง โดยมีช่องเด่นอยู่น้อยช่องเท่านั้น เช่น "ไทยไชโย" ช่องเพลงลูกทุ่งและเพลงเพื่อชีวิตหลากหลายแนว เป็นช่องที่มีอายุยาวนานที่สุดในตระกูล Live TV (ถึง 31 สิงหาคม 2560 ภายหลัง Wish Channel ซื้อกิจการไทยไชโย แต่เปลี่ยนชื่อช่องเป็น "ไทไชโย" ตั้งแต่ปี 2562), "POP TV" (เดิมคือ Pop Culture Club, POP Culture Club) ช่องเพลงสตริงทั้งไทยและเทศ, ช่องกีฬา เช่น "MUTV" ของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, "Football Plus" และ "Sport Plus" (ทั้ง 3 ช่องโอนให้กับแกรมมี่ในภายหลัง), "Miracle" ช่องวาไรตี้สยองขวัญลี้ลับและเรื่องแปลกเหลือเชื่อ โดยได้กันตนาร่วมผลิต ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "มิติ 4"  (ภายหลังกันตนาได้แยกไปทำช่อง Miracle ด้วยตนเอง และได้ไปอยู่ในตารางช่องของทรูวิชั่นส์ด้วย แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว)


สถานีวิทยุโทรทัศน์ไททีวี (2539-2556)

เครือข่ายผ่านระบบ MMDS (เสาเดือยหมู) โดยได้ทำสัญญาไว้กับกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งออกอากาศอยู่ 3 ช่องผ่านช่องที่ 7-9 ประกอบด้วย 1. เนชั่นแชนแนล (เนชั่นทีวี 22 ในปัจจุบัน) 2. ช่องทั่วไป 3. ช่อง MVTV (ภายหลังช่องนี้เปลี่ยนเป็นช่องเพลง)


Money Channel (28 เมษายน 2548-31 ธันวาคม 2561)

ช่องที่ร่วมทุนกันระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในชื่อบริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว จำกัด เป็นช่องเศรษฐกิจและการเงินช่องแรกของไทย ซึ่งออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งการซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ และรายการวาไรตี้ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน


Gang Cartoon Channel (23 กรกฎาคม 2551-31 สิงหาคม 2563)

โรส วิดีโอ (ต่อมาคือ โรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์) ได้ผลิตรายการ "แก๊งการ์ตูน" ทุกเช้าเสาร์-อาทิตย์ ทางช่อง 5 มาตั้งแต่ปี 2550 ภายหลังได้เริ่มออกอากาศช่องแก๊งการ์ตูนขึ้น ผ่านจานดำระบบซี-แบนด์ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการ์ตูนและรายการสำหรับเด็กมากมาย ซึ่งส่วนมากมาจากญี่ปุ่น และยังมีรายการวาไรตี้อื่น ๆ มากมาย ภายหลังเหลือเพียงรายการการ์ตูนเพียงอย่างเดียว

บุคคลในช่องแก๊งการ์ตูนที่มีชื่อเสียง เช่น พลอย-พงษ์รตี, แพทตี้-อังศุมาลิน, นิด้า-ปณิดา รวมไปถึงพิธีกรนิรนามอย่าง โอตาคุแมน, โอตาคุเรด, โอตาคุมายา, ชินโอตาคุ เป็นต้น


กรุงเทพธุรกิจทีวี/นาว 26/สปริง 26 (9 กันยายน 2555-15 สิงหาคม 2562)

เดิมเป็นช่องกรุงเทพธุรกิจ ช่องข่าวเศรษฐกิจและข่าวสารต่าง ๆ แต่ภายหลังประมูลทีวีดิจิทัลทางช่อง 26 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น NOW 26 แทน ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2557 และได้เพิ่มรายการวาไรตี้ให้หลากหลายขึ้น รายการเด่นคงไม่พ้นการถ่ายทอดสดกีฬา "แม็กซ์มวยไทย" ทั้ง 7 วันเต็ม

จนกระทั่งในปี 2562 เปลี่ยนชื่อเป็น สปริง 26 (Spring 26) แต่ไม่นานได้มีการคืนใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ และยุติการออกอากาศเมื่อเที่ยงคืนวันที่ 15 สิงหาคม 2562


สปริงนิวส์ (5 มีนาคม 2553-15 สิงหาคม 2562)

ช่องข่าว 24 ชั่วโมง ภายใต้บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยมีแนวคิดคือเสนอข่าวที่เป็นความจริง และเชื่อถือได้ และได้เข้าประมูลทีวีดิจิทัลทางช่อง 19

ในปี 2560 ร่วมมือกับ CNN สำนักข่าวชื่อดังจากสหรัฐ ร่วมมือกันปรับปรุงการนำเสนอข่าวและนำเสนอเนื้อหารายการให้ทัดเทียมระดับโลก ต่อมาก็ถูกทีวีไดเร็คซื้อกิจการสปริงนิวส์ในปี 2561 และยุติการลงทุนในช่วงต้นปี 2562

ปัจจุบันช่องสปริงนิวส์ไม่มีแล้วตั้งแต่ 15 สิงหาคม 2562 แต่ยังมีสำนักข่าวและสื่อออนไลน์ที่ใช้ชื่อ Spring อยู่ และเป็นส่วนหนึ่งของเครือเนชั่น


MCOT Family (1 เมษายน 2557-15 กันยายน 2562)

ช่องรายการสำหรับเด็กในเครือ อสมท เริ่มแรกออกอากาศในชื่อ "MCOT KIDS & FAMILY" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "MCOT Family" ในภายหลัง รายการที่ออกอากาศมีทั้งการ์ตูน รายการสำหรับครอบครัว และรายการบันเทิง ภายหลังได้เพิ่มรายการแนะนำสินค้าในชื่อ "Outlet พระราม 9" จนกระทั่งยุติการออกอากาศ


วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564

เส้นเวลาทีวีโลก [สัปดาห์ทีวี 2021]

 

 

โทรทัศน์ ถือได้ว่าเป็นความบันเทิงที่ทุกคนต้องมี แต่เชื่อหรือไม่ว่า แต่ก่อนนั้น โทรทัศน์มีราคาแพงมาก และมีเครื่องรับน้อย ปัจจุบันนี้โลกก้าวไกลอย่างมาก ทั้งการประเภทของทีวีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทีวีแอนะล็อก ทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี หรือแม้แต่ทีวีอินเทอร์เน็ต หรือ ไอพีทีวี แม้แต่สื่อชนิดใหม่ที่พกพาไปไหนก็สะดวกอย่าง ทีวีแอปพลิเคชัน หรือแม้แต่วิดีโอสตรีมมิง ที่ตอนนี้กลายเป็นสื่อสามัญประจำตัวไปแล้วเรียบร้อย

แต่ถ้าพูดถึง "ทีวี" คงจะย้อนกลับไปเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ที่ ฟิโล ฟาร์นสเวิร์ธ ได้กำเนิดเครื่องรับโทรทัศน์เครื่องแรกของโลกได้เป็นผลสำเร็จ จนกระทั่งมีการส่งสัญญาณโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง และสถานีโทรทัศน์ของวิทยุบีบีซีจากอังกฤษ กลายเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของโลกที่เริ่มทำการออกอากาศเป็นการทั่วไป แต่ความจริงนั้นไม่ใช่ W2XB หรือปัจจุบันคือ WRGB ของสหรัฐ เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของโลกที่ออกอากาศ ในเดือนมกราคม ปี 1928 (พ.ศ. 2471 (2470 ตามการนับแบบเก่า))

สำหรับภูมิภาคเอเชียนั้น ประเทศไทยเองหวังเป็นประเทศแรกที่มีโทรทัศน์ แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำให้กิจการทีวีของไทยต้องหยุดชะงักลง ทำให้ญี่ปุ่น กลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ส่งสัญญาณโทรทัศน์ ในปี 1953 (พ.ศ. 2496) จากนั้น ฟิลิปปินส์ก็มีสถานีโทรทัศน์ขึ้นในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ในชื่อสถานี DZAQ-TV (ของ ABS-CBN แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้วตั้งแต่ปี 2020) ต่อมาในปี 1955 (พ.ศ. 2498) สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม เริ่มออกอากาศครั้งแรก ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย และประเทศแรกในเอเชียภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ (ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่เป็นเกาะ) ที่มีการส่งสัญญาณโทรทัศน์ขึ้น

พัฒนาการของทีวีเริ่มคืบหน้าไปยังรวดเร็ว โทรทัศน์สีเกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐ เมื่อปี 1941 และเต็มรูปแบบในปี 1953, โทรทัศน์เคเบิลในปี 1950, โทรทัศน์ดาวเทียมในปี 1976, ไอพีทีวีในยุค 90, ทีวีในระบบดิจิทัลในปี 1994 (ภาคพื้นดินเริ่มในปี 1998), ระบบภาพ HD ในปี 1998, 4K ในปี 2014 และ 8K ในปี 2019

พัฒนาการต่าง ๆ ของโทรทัศน์ ตั้งแต่ยุคก่อนกำเนิด ในฐานะโทรทัศน์ระบบเครื่องกล จนกระทั่งเป็นระบบไฟฟ้า และปัจจุบันในยุคโลกาภิวัฒน์ โทรทัศน์ในรูปแบบที่สามารถติดตัวพกพาไปง่ายดาย สะท้อนให้เห็นว่า โทรทัศน์ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนการก้าวหน้าไปโดยลำดับ เส้นเวลาโทรทัศน์ของโลก จะบ่งบอกถึงรายละเอียดที่มาของโทรทัศน์ในยุคต่าง ๆ ให้ได้ทราบกันอย่างละเอียด

W2XB (WRGB ในปัจจุบัน) หนึ่งในสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของโลก
ที่มา: http://www.earlytelevision.org/w2xb.html

 

  • 1923 (2466) - ชาร์ลส์ ฟรานซิส เจนกินส์ นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ได้ประดิษฐ์โทรทัศน์เครื่องกลโดยอาศัยเครื่องรับวิทยุถ่ายทอดภาพเคลื่อนไหวได้
  • 1 กุมภาพันธ์ 1953 (2496) - เอ็นเอชเค แพร่ภาพโทรทัศน์ขาวดำอย่างเป็นทางการ ด้วยกำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ ที่ช่องสัญญาณที่ 3 กรุงโตเกียว (สัญญาณเรียกขาน: JOAK-TV)
  • 24 มิถุนายน 1955 (2498) - สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม เริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการ
  • 25 มกราคม 1958 (2501) - สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 เริ่มออกอากาศในภาพขาว-ดำ จากย่านสนามเป้า เขตดุสิต (ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตพญาไท)
  • 25 พฤศจิกายน 1967 (2510) - สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เริ่มแพร่ภาพอย่างเป็นทางการ ด้วยการถ่ายทอดสดการประกวดนางสาวไทย จากพระราชวังสราญรมย์
  • 1 เมษายน 2014 (2557) - ทีวีดิจิทัลเมืองไทยทั้ง 27 ช่อง เริ่มทดลองออกอากาศ
  • 2 ธันวาคม 2015 (2558) - วันแรกที่เลขช่องทีวีดิจิทัลและดาวเทียม/เคเบิล เป็นเลขเดียวกันทุกแพลตฟอร์ม
  • 26 มีนาคม 2020 (2563) - ไทยทีวีสีช่อง 3 ยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อกทั่วประเทศ โดยเปลี่ยนโลโก้ช่อง 3 เอชดี จากโลโก้ปลาคาร์ฟเป็นแบบโลโก้ช่อง 3 ออริจินัลเดิม ถือเป็นการปิดตำนานทีวีแอนะล็อกของไทยอย่างสมบูรณ์
  • 31 สิงหาคม 2020 (2563) - แก๊งการ์ตูนแชนแนล ยุติการออกอากาศผ่านระบบออนไลน์ ปิดฉากช่องการ์ตูนของค่ายโรสที่ยาวนานถึง 11 ปี
  • 27 เมษายน 2021 (2564) - ดิสนีย์ประกาศปิดช่องโทรทัศน์ดาวเทียมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 18 ช่อง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ในปีเดียวกัน

 

วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564

"ไอแอม" ชี้แจงกรณี "เฌอปราง BNK48" ถูกพาดพิงในทางที่ไม่เหมาะสม

สืบจากเมื่อวานนี้ กระแสโซเชียลพุ่งประเด็นไปที่ "เฌอปราง อารีย์กุล" กัปตันแห่ง BNK48 ซึ่งทำให้แท็ก #ไอแอมต้องปกป้องเมม และ #CherprangBNK48 พุ่งขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว

ล่าสุด บริษัท อินดิเพนเด้นท์ อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ iAM (ไอแอม) ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊ก BNK48 โดยมีเนื้อหาบางส่วนดังนี้:


"จากกรณีที่ บริษัท อินดิเพนเด้นท์ อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ จำกัด (iAM) ได้นำ นางสาวเฌอปราง อารีย์กุล (Cherprang BNK48) เข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน บก.ปอท. กรณีที่ถูกตัดต่อภาพ ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียงเป็นเหตุให้ร้องให้มีการปิดกั้น และระงับการเข้าถึงเผยแพร่ภาพที่มีการตัดต่อนั้น ทางบริษัทฯ ขอชี้แจ้งว่า นางสาวเฌอปราง อารีย์กุล (Cherprang BNK48) ได้แจ้งเฉพาะส่วน 'พ.ร.บ.ข้อมูลคอมพิวเตอร์ เท่านั้น'

"ทั้งนี้ ในส่วนของเอกสารที่เผยแพร่คำสั่งไต่สวนคำร้องของศาลอาญา ที่กำลังเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ ณ ขณะนี้ ทางบริษัทฯ ได้ประสานงานกับ บก.ปอท. และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว และได้รับการยืนยันว่าหมายที่มีการเผยแพร่ดังกล่าว 'มีการตัดต่อเปลี่ยนแปลงข้อความ' ดังนี้

1. แก้ไขชื่อผู้ร้องจาก “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” เป็นชื่อ “นางสาวเฌอปราง อารีย์กุล”
2. เพิ่มเติมข้อหามาตรา 112 ในหมายไต่สวนของศาลดังกล่าว

"สำหรับขั้นตอนการดำเนินการต่อไป บริษัทฯ ได้แจ้งข้อมูลให้กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม รับทราบว่า มีการตัดต่อเปลี่ยนแปลงข้อความคำสั่งไต่สวนของศาล เพื่อสืบหาผู้ใช้บัญชีเฟสบุ๊กรายนี้มาดำเนินคดีทางกฎหมายในข้อหาปลอมแปลงเอกสารราชการต่อไป"

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ ยังขอความร่วมมือให้หยุดการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ และให้ลบข้อความ โพสต์ หรือคลิปวิดีโอ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงต่อเฌอปราง ซึ่งหากมีการตรวจสอบว่ายังมีการเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ หรือเชิงพาดพิง ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของเฌอปราง บริษัทจะดำเนินคดีในทางกฏหมายต่อผู้เสียหายต่อไป

นอกจากนี้ เฌอปราง ยังได้โพสต์ประกาศของ iAM ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมระบุข้อความไว้ว่า "ขอขอบพระคุณทุกๆท่านสำหรับความห่วงใยและกำลังใจที่มอบให้กันนะคะ การชี้แจง และข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่บริษัทได้ออกมาแถลง รวมถึงแนวทางการดำเนินการต่อไปเป็นไปตามประกาศนี้นะคะ เฌอก็จะมุ่งมั่นทำงานต่อไป ขอขอบคุณแฟนๆ และทุกๆท่านที่เป็นกำลังใจให้จริงๆนะคะ"

ที่มา:
https://www.facebook.com/bnk48official/posts/348123000005686
 

วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564

[คลั่งบันเทิง] สมการรอคอย BNK48 ชวนทุกคนฟิน จิ้นไปกับ 16 เซ็มบัตสึใน MV "ดีอะ" (D-AAA) #ดีอะMVมาแล้ว

ไอดอลสาว "BNK48" ขอฉลองเดบิวต์ครบรอบ 4 ปี ด้วยการปล่อย MV "ดีอะ" อย่างเป็นทางการ สมการรอคอยของเหล่าโอตะ Original Song ครั้งแรกในสไตล์ป็อปแดนซ์ กับท่าเต้นที่ชวนขยับตาม ด้วยท่าซิกเนเจอร์ "ดีอะ" และ "เป็นโสด" ผสานกับแนวสตรีทสุดชิค พร้อมชวนคุณจิ้นไปกับพวกเธอทุกสตรีมมิงออนไลน์แล้ววันนี้!

ถือว่าเป็นการกลับมาอย่ายิ่งใหญ่อีกครั้ง สำหรับไอดอลสาว BNK48 (บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต) กลุ่มศิลปินภายใต้สังกัด บริษัท อินดิเพนเด้นท์ อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ iAM (ไอแอม) ในการเปิดตัวมิวสิกวิดีโอเพลง "ดีอะ" ซึ่งเป็นเพลงต้นฉบับ (Original Song) ครั้งแรกของพวกเธอ ซึ่งก็ได้มีการเปิดตัวเพลงให้ไปฟังกันเป็นการเรียกน้ำย่อยตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ตามที่คลั่งบันเทิงได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อช่วงเที่ยงของวันนี้ (2 มิ.ย.) BNK48 ได้ถือฤกษ์ครบรอบเดบิวต์ 4 ปี เปิดตัวมิวสิกวิดีโอเพลง "ดีอะ" อย่างเป็นทางการ โดยมีความยาวประมาณ 4 นาทีครึ่ง และไม่มี Story อะไรมากนักให้ยาวเหยียด แถมตบท้ายด้วยเบื้องหลังเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ควบคุมของโปรดิวเซอร์ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (มะเดี่ยว) และผู้กำกับ สุรชาญ มั่งคงวงศ์ศิริ (บอย)


ซึ่งความเก๋ของคอนเซปต์มิวสิกวิดีโอเพลงเพลงนี้ เกิดมาจากแนวคิดของเหล่าเมมเบอร์ที่ชวนกันมาแลกเปลี่ยนมุมมองถึงคนในสเปกของแต่ละคน พร้อมส่งเคมีของทุกคู่จิ้นที่เวลาอยู่ด้วยกัน ถือว่าเป็นเวลาที่อยู่ด้วยกันแล้วดีสมชื่อเพลงดีอะ มิวสิกวิดีโอตัวนี้ยังมาพร้อมกับไอเดียที่ได้จับเป็นคู่ ๆ เพื่อให้ทุกเมมเบอร์ในเพลงนี้มีความโดดเด่น โดยมีโมเมนต์คู่จิ้นที่จะทำให้ทุกคนฟินจิกหมอนอย่างแน่นอน ขณะที่มิวสิกวิดีโอเพลงนี้ ได้เล่าถึงบรรยากาศของความสดใสของทั้ง 16 เซ็มบัตสึ ในบรรยากาศสนุกสนาน และมีคาแรกเตอร์ที่หลากหลายที่ล้วนเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน



ทั้งนี้ 16 เซ็มบัตสึของเพลงดีอะ ประกอบด้วย โมบายล์-พิมรภัส ผดุงวัฒนะโชค (เซ็นเตอร์), เฌอปราง-เฌอปราง อารีย์กุล, มิวสิค-แพรวา สุธรรมพงษ์, ปัญ-ปัญสิกรณ์ ติยะกร, เจนนิษฐ์-เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ, วี-วีรยา จาง, จีจี้-ณัฐกุล พิมธงชัยกุล, อร-พัศชนันท์ เจียจิรโชติ, ตาหวาน-อิสราภา ธวัชภักดี, แก้ว-ณัฐรุจา ชุติวรรณโสภณ, เจน-กุลจิราณัฐ อินทรศิลป์, มินมิน-รชยา ทัพพ์คุณานนต์, ปูเป้-จิรดาภา อินทจักร, ไข่มุก-วรัทยา ดีสมเลิศ, น้ำหนึ่ง-มิลิน ดอกเทียน และ เนย-กานต์ธีรา วัชรทัศนกุล

นอกจากความสดใสของเหล่าเซ็มบัตสึแล้ว สถานที่ถ่ายทำมิวสิกวิดีโอมีลักษณะแบบสไตล์ลอฟต์ ซึ่งมีสีสันให้เข้ากับชุดเซ็มบัตสึอีกด้วย สำหรับท่าเต้นนั้น มีแนวคิดจากการต้องการให้ดูแล้วมีความสุข สนุกสนาน และสามารถเต้นตามได้ การออกแบบท่าเต้นจึงเป็นความพยายามที่จะทำให้เข้าสอดคล้องกับจังหวะของเพลงซึ่งมีหลาหลายด้วยกัน โดยท่าที่เป็นซิกเนเจอร์มี 2 ท่า คือท่า "ดีอะ" และท่า "เป็นโสด" ซึ่งหลายคนคงจะแกะท่าและไปเต้นตามอย่างแน่นอน




อีกหนึ่งความพิเศษของเพลงดีอะ ก็คือ นี้คือเพลงแรกที่เซ็มบัตสึทั้ง 16 คนได้มีโอกาสร้องเดี่ยวเป็นของตน โดยมีท่อนร้องเดี่ยว ๆ สำหรับตัวเองครบทุกคน เช่นท่อนแร็ป ได้สองสาวจากไวร่า (VYRA) อย่างปัญและเจนนิษฐ์ร่วมร้อง เป็นต้น ทั้งนี้ เมมเบอร์ทุกคนก็ได้มีการออกแบบการออกเสียงเป็นของตนเอง พร้อมทั้งออกแบบท่าเต้นในท่อนของตนอีกด้วย

ด้านชุดเซ็มบัตสึของเพลงดีอะ เป็นชุดในสไตล์ Street Luxury โดยได้ร่วมงานกับ ยูรี เกมสาคู ศิลปินนักวาดภาพระดับแถวหน้าของไทย ที่สร้างสรรค์ชุดเซ็มบัตสึในรูปแบบของนก 16 ตัว ทั้งนกหงส์หยก, นกแก้ว, นกค๊อกคาเทล เป็นต้น ซึ่งจะนึกถึงเสียงนกไพเราะในยามเช้า ทำให้รู้สึกตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่นรื่นรมย์ โดยนกทั้ง 16 ตัว จะปรากฏอยู่ในชุดเซ็มบัตสึของแต่ละคน

ไม่ใช่เพียงแค่เพลงดีอะ ที่จะอยู่ในซิงเกิลที่ 10 นี้ อีก 2 เพลงที่จะอยู่ในซิงเกิลนี้คือเพลง "Sukida Sukida Sukida" และเพลง "Only You" (แบ่งเป็น 2 แบบคือ Band version ใน Type-A และ Acapella version ใน Type-B) ซึ่งตอนนี้สามารถสั่งซื้อได้ผ่านทาง Shopee Mall

และรอติดตามให้ดี ๆ ว่า First performance รวมถึงกิจกรรมดี ๆ ต้อนรับซิงเกิลที่ 10 "ดีอะ" จะออกมาสร้างเซอร์ไพรส์ให้เหล่าโอตะมากแค่ไหน แฟน ๆ BNK48 ไม่ควรพลาดแน่นอน

เรื่อง: PSK Founder
เครดิตภาพ: ©iAM
คำเตือน: อนุญาตแชร์ข้อความต่อได้ แต่ภาพทั้งหมดมีลิขสิทธิ์