วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563

50 ปี ช่อง 3 กับเส้นทางสู่ทีวีแถวหน้าของไทย

เรื่อง: PSK Founder

25 มีนาคม 2563

เป็นวันที่ประเทศไทยจะต้องบันทึกหน้าประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์อีกครั้ง

โทรทัศน์ระบบที่คุ้นหน้าคุ้นตามาตลอด 65 ปี อย่าง "ทีวีเสาก้างปลา" หรือ "เสาหนวดกุ้ง" หรือเรียกอย่างทั่วไปว่า "ทีวีแอนะล็อก"

ถึงเวลาต้อง "สิ้นสุดลง"

ถ้าหากย้อยกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน สถานีโทรทัศน์สีแห่งที่ 2 ของไทย ที่ชื่อช่อง "3" ถือกำเนิดจากการร่วมทุนของ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด และสกุลมาลีนนท์ โดยจัดตั้ง บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด โดยมี "วิชัย มาลีนนท์" เป็นผู้วางรากฐานและตั้งต้นสถานีแห่งนี้ และยังได้รับเกียรติจากท่านจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เป็นประธานในการเริ่มออกอากาศ ณ เวลา 10:00 น. ของวันที่ 26 มีนาคม 2513

ในระยะแรก ช่อง 3 ออกอากาศได้เพียงแค่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงรวม 18 จังหวัด มีที่ทำการตั้งต้นที่อาคารพื้นที่ 6 ไร่เศษ ในเขตหนองแขม ฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานคร และตั้งสำนักใหญ่อยู่ที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ในฝั่งพระนคร

สมัยแรกๆ ช่อง 3 ออกอากาศจำพวกภาพยนตร์ชุดและละครจากต่างประเทศ ต่อมาในปี 2519 ได้ถือกำเนิดละคร "อ่านบท" และ "อัดเทป" เรื่องแรก แทนการออกอากาศสด ในเรื่อง "ไฟพ่าย" นำแสดงโดย ภัทรวดี มีชูธน และ สมภพ เบญจาธิกุล

ปี 2521 ถือเป็นมิติใหม่ของวงการข่าว ด่วยการถ่ายทอดข่าวต่างประเทศผ่านดาวเทียม โดยมีหลักการคือ บันทึกเทปจากฮ่องกงในช่วงเช้ามืดแล้วส่งเทปผ่านเครื่องบินเพื่อออกอากาศในช่วงค่ำ หลังจากนั้นไม่นานก็ได้ร่วมมือกับไทยทีวีสีช่อง 9 ถ่ายทอดข่าวร่วมระหว่างปี 2527 - 2529 หลังจากนั้นก็แยกทางให้ช่อง 3 ออกอากาศข่าวด้วยตนเอง

ภาพยนตร์ต่างประเทศหลายเรื่องล้วนยังอยู่ในความทรงจำของผู้ชมตลอดมา ฝั่งอเมริกามี The A-Team, ฝั่งฮ่องกง/ไต้หวัน มี เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้, เปาบุ้นจิ้น, กระบี่ไร้เทียมทาน จนมาถึงยุคละครเกาหลี แดจังกึม, ทงอี เป็นต้น ล้วนสร้างกระแสต่อผู้ชมมากมาย

เรื่องของละคร ผมอาจไม่ได้พูดมากนัก แต่ขอสรุปสั้นๆ ละกัน

ภายหลังละครไฟพ่ายแล้ว ก็มีละครที่สร้างกระแสมากมาย ที่จดจำกล่าวขานมากที่สุดมีทั้ง "สงครามเก้าทัพ", "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช", "วนาลี", "สี่แผ่นดิน" จนมาถึงละครยุคใหม่ "สะใภ้ไร้ศักดินา", "สุดรักสุดดวงใจ", "สวรรค์เบี่ยง", "สูตรเสน่หา", รอยไหม", "ทองเนื้อเก้า", ละครชุด "สี่หัวใจแห่งขุนเขา", ละครชุด "สุภาพบุรุษจุฑาเทพ", "ข้าบดินทร์", "นาคี" จนมาถึง "บุพเพสันนิวาส" ที่สร้างกระแสเป็นละครที่มีผู้ชมมากที่สุดในทีวีดิจิทัลเมืองไทย และยังสร้างปลุกกระแสในการท่องเที่ยวสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ของไทยด้วย

ละครสำหรับเยาวชน ประกอบด้วยหลายเรื่องที่ยังอยู่ในใจของทุกคน ทั้ง "6/16 ร้ายบริสุทธิ์ > น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์" หรือจะเป็นละครแนวสร้างสรรค์สังคมอย่าง "วัยแสบสาแหรกขาด" ซึ่งทำมาแล้วทั้งสองภาค ก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน

ด้านรายการประเภทอื่นๆ มีหลายรายการที่เรตติ้งสูง หรือกระแสโด่งดังกลายเป็นที่กล่าวขวัญมากมาย พอสังเขปได้ดังนี้

"เณรน้อยเจ้าปัญญา" การ์ตูนญี่ปุ่นช่องทีวีอาซาฮิ ที่อยู่คู่กับช่อง 3 มานานถึง 33 ปี ที่มีคติสอนใจทุกตอน ตอนนี้ก็ยังออกอากาศอยู่

"ฝันที่เป็นจริง" รายการของบริษัทบอร์น ของ ไตรภพ ลิมปพัทธ์ ที่เสนอละครสั้น และสัมภาษณ์บุคคลที่ต่อสู้กับโชคชะตาอันยากลำบาก รายการนี้ถือว่าเป็นใบแจ้งเกิดให้กับไตรภพเลยทีเดียว

เช่นเดียวกันกับ "ทไวไลท์โชว์" รายการวาไรตี้รูปแบบใหม่ ที่ออกอากาศยาวนานถึง 10 กว่าปี แถมช่วงระยะหนึ่งได้ขยายเวลามากถึง 3 ชั่วโมง ปัจจุบันถึงแม้เปลี่ยนชื่อเป็น "ทูเดย์โชว์" แต่เอกลักษณ์ที่ไม่เปลี่ยนคือ ช่วงทอล์กโชว์ ที่ตอนท้ายจะมอบรูปภาพขนาดใหญ่ให่แขกรับเชิญทุกคน

"สีสันบันเทิง" เป็นอีกหนึ่งรายการที่อยู่คู่ช่อง 3 มาตลอด นำเสนอผลงานละคร เบื้องหลังละคร ข่าวดาราช่อง 3 ให้ได้ติดตามก่อนเข้าละครหลังข่าว

"สมาคมชมดาว" รายการแรกที่โพลีพลัสป้อนให้ช่อง 3 เป็นวาไรตี้ทอล์กโชว์คุยกับดาราที่มีชื่อเสียง ซึ่งถึงแม้ไม่มีแล้ว แต่ก็มีรายการแนวเดียวกันมาสานความสนุกอย่างต่อเนื่องทั้ง "รักเอย", "ราตรีสโมสร", "ฉันค้างคืนกับซุปตาร์" จนถึง "3 แซ่บ" ในปัจจุบัน

"ตีสิบ" ถือเป็นอีกหนึ่งรายการที่ยาวนานถึงปัจจุบัน มีทั้งสนทนา ร่วมไปถึง "ดันดารา" ที่สร้างดารามากมายประดับวงการ

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายรายการตามวาระ ที่สร้างความสุขและความสนุกมากมาย

ด้านรายการข่าว ช่อง 3 ถือเป็นผู้นำด้านข่าวในช่วงยุค 2000 เปิดรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้" จนได้รับความนิยมสูง จากการจัดรายการของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา และมีช่วงหนึ่งที่ขยายเวลาถึง 3 ชั่วโมงเศษ ตอนหลังๆ ก็มีคู่แข่งมากมาย อีกหนึ่งรายการคือ "ข่าว 3 มิติ" ของกิตติ สิงหาปัด ซึ่งอยู่มายาวจนถึงปีที่ 13 แล้ว แต่ยังคงเป็นข่าวรอบดึกที่ได้รับความนิยมในด้านเนื้อหา

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ขอเอ่ยถึงนักแสดงที่มีชื่อเสียง ทั้งเก่าและใหม่ ที่สร้างบุคลากรทางด้านการแสดงตั้งแต่ตั้งโรงเรียนฝึกการแสดง จนถึงนักแสดงยุคกลาง และนักแสดงหน้าใหม่ ที่หลายๆ คนต่างชื่นชอบ

อวสานช่อง 3

ถึงแม้ในปี 2557 - 2562 ช่อง 3 จะมี 4 ช่อง ซึ่งมากที่สุดในบรรดาทีวีภาคพื้นดิน ช่อง 3 แฟมิลี, ช่อง 3 เอสดี คือสองช่องที่ยอมปิดตามสภาพเศรษฐกิจ

ในปี 2563 ก้าวสู่ "50 ปี" ช่อง 3 เอชดี จะกลายเป็นช่องดิจิทัลเต็มตัว ภายหลังสัมปทานระหว่างบีอีซี และ อสมท สิ้นสุด

เท่ากับว่า 50 ปี ที่ วิชัย มาลีนนท์ ผู้ล่วงลับ ผู้วางรากฐานช่อง 3 ให้แข็งแรงมั่นคง จะสิ้นสุดลงด้วย

นับจากนี้ไป ช่อง 3 เอชดี ด้วยโลโก้เดิมมาจากแอนะล็อก แต่เพิ่มความแวววาว และเติม HD ข้างท้าย จะยังคงสร้างความสุขให้ผู้ชมทั้งประเทศอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเศรษฐกิจและสภาวะทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ขอเชิญทุกคน ร่วมอำลาช่อง 3 แอนะล็อกทีวีช่องสุดท้ายของไทย ด้วยการติดแฮชแท็ก "#Goodbye3Analog" ลงบนสื่อสังคมออนไลน์ของคุณ เพื่อร่ำลาตำนาน 50 ปี สู่ปฐมบทใหม่ที่ช่อง 33

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น