วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561

ย้อนทีวี #1: 6 ทศวรรษ ททบ.HD1

ขอต้อนรับสู่คอลัมน์ "ย้อนทีวี"

ทำไมต้องเป็นชื่อนี้

ย้อนทีวี เป็นการย้อนอดีตไปยังวงการโทรทัศน์ในอดีตที่น่าสนใจ และแกะเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น ในวาระต่างๆ ซึ่งคอลัมน์นี้จะมีทั้งสิ้น 24 ตอน และอาจจะมีภาคพิเศษ ที่พูดถึงข่าวใหญ่ของวงการทีวี รวมไปถึงรายการทีวีที่อยู๋ในความทรงจำอีกด้วย

และสถานีทีวีที่จะประเดิมคอลัมน์ "ย้อนทีวี" ในเอพิโซดแรกนี้ ก็คือ....

"60 ปี สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5"

ย้อนกลับไปเมื่อราวปี 2495 ช่วงที่รัฐบาลกำลังจะจัดตั้งบริษัท ไทยโทรทัศน์จำกัด อยู่ในขณะนั้น กระทรวงกลาโหมก็ได้ออกข้อบังคับ ว่าด้วยการมอบหมายงานแก่เจ้าหน้าที่กองทัพบก โดยกำหนดให้กรมการทหารสื่อสาร จัดตั้ง "แผนกกิจการวิทยุโทรทัศน์" ขึ้นตรงต่อกองการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ต่อมาในปี 2497 มีการกำหนดอัตรากำลังพลประจำแผนกโทรทัศน์ ในอัตราเฉพาะกิจ สังกัดกรมการทหารสื่อสาร จำนวน 52 นาย เพื่อปฏิบัติงาน ออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ผลิตและถ่ายทอดรายการโทรทัศน์

25 กุมภาพันธ์ 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ลงนามในคำสั่ง ทบ.(เฉพาะ) ที่ 107 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ประกอบด้วย พลเอกไสว ไสวแสนยากร เป็นประธานกรรมการ พันเอก (พิเศษ) การุณ เก่งระดมยิง เป็นเลขานุการ มีหน้าที่จัดทำโครงการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก พร้อมทั้งวางแผนการอำนวยการ และควบคุมการดำเนินกิจการวิทยุโทรทัศน์ รวมถึงมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติงานให้ได้ผลตามที่ราชการทหารมุ่งหมาย ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน ปีเดียวกัน ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารที่ทำการสถานีโทรทัศน์ในบริเวณกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ สนามเป้า ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร โดยทำสัญญายืมเงินกับกองทัพบก เพื่อเป็นทุนในการก่อสร้าง และจัดหาอุปกรณ์ จำนวน 10,101,212 บาท

จุดประสงค์ของการจัดตั้งสถานีในยุคแรก ได้มีความมุ่งหมายอยู่ 3 ประการ อันได้แก่ 1. เพื่อประโยชน์ในการฝึกศึกษาของเจ้าหน้าที่ทหารให้มีความรู้ความชำนาญ และสามารถติดตามความก้าวหน้าของวิทยาการด้านวิทยุโทรทัศน์ได้ 2. เพื่อบริการความรู้ความบันเทิงให้แก่ทหารและประชาชน และ 3. เพื่อเป็นสื่อสร้างความเข้าใจอันดี ระหว่างกิจการทหารของชาติกับประชาชน

วันที่ 25 มกราคม 2501 หรือวันนี้ เมื่อ 60 ปีก่อน ซึ่งตรงกับวันกองทัพไทยในขณะนั้น ได้เริ่มการออกอากาศสถานีอย่างเป็นทางการ จากอาคารสวนอัมพร ในชื่อว่า "สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7" โดยใช้ระบบ F.C.C (Federal Communication Committee) ภาพ 525 เส้น ขาวดำ ส่งสัญญาณทางช่องสัญญาณที่ 7 ด้วยเครื่องส่ง 5 กิโลวัตต์ และทวีกำลังเพิ่มขึ้นอีก 12 เท่า บนสายอากาศสูง 300 ฟุต รวมกำลังส่งออกอากาศทั้งสิ้น 60 กิโลวัตต์ ถือเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่สองของประเทศไทย และเป็นสถานีโทรทัศน์ย่าน VHF ความถี่สูง (ฺBand III) แห่งแรกของไทยอีกด้วย

ภายหลังจากอาคารที่ทำการสร้างแล้วเสร็จ จึงได้เริ่มออกอากาศเป็นประจำทุกวันพุธ ต่อมาเพิ่มวันออกอากาศในวันจันทร์ และวันศุกร์ รวม 3 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งยุคแรกนั้นจะเป็นรายการภาพยนตร์ต่างประเทศและสารคดีเป็นส่วนใหญ่

ปี 2506 สถานีได้ริเริ่มการจัดตั้งสถานีทวนสัญญาณด้วยระบบทรานสเลเตอร์ถ่ายทอดสัญญาณ ที่เขาวงพระจันทร์ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี เพื่อถ่ายทอดรายการ "การฝึกธนะรัชต์" ให้ประชาชนได้รับชมการฝึกทหารในยามปกติ และปีเดียวกันนี้ก็ได้ริเริ่มรายการในภาคกลางวันด้วย

วันที่ 31 สิงหาคม 2508 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ ทอดพระเนตรกิจการของสถานี และปีเดียวกันนี้ยังได้จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงความถี่ 94 เมกะเฮิร์ตซ์ เพื่อถ่ายทอดเสียงภาษาอังกฤษจากฟิล์มภาพยนตร์ที่ออกอากาศทาง ททบ. และในปี 2515 เริ่มจัดตั้งสถานีถ่ายทอดสัญญาณไปส่วนภูมิภาคเป็นครั้งแรกด้วยระบบไมโครเวฟ ที่จังหวัดนครสวรรค์ และนครราชสีมา

วันที่ 3 ตุลาคม 2517 ได้มีการย้ายความถี่ของสถานี จากช่อง 7 ไปยังช่อง 5 พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น "สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5" โดยวันที่ 3 ธันวาคม ปีเดียวกัน ททบ. เริ่มออกอากาศด้วยภาพสีในระบบ PAL (Phase Alternation Line) เป็นครั้งแรกด้วยการถ่ายทอดสด พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ณ ลานพระราชวังดุสิต

ปี 2521 ททบ. ได้ร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เช่าช่องสัญญาณในดาวเทียมปาลาปา ของอินโดนีเซีย เพื่อส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมไปยังสถานีถ่ายทอดสัญญาณในส่วนภูมิภาค รวมถึงการจัดตั้งห้องส่งส่วนภูมิภาคที่ จ.เชียงใหม่, อุบลราชธานี และสงขลา

ในปี 2539 ททบ. นับเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ติดกล้องบนเฮลิคอปเตอร์ รวมไปถึงรถถ่ายทอดสัญญาณนอกสถานที่ หรือ D-SNG เพื่อใช้สำหรับการรายงานข่าวและถ่ายทอดสดนอกสถานที่ และยังเป็นสถานีแรกที่ใช้ระบบควบคุมการออกอากาศแบบดิจิทัล (ถ้าสังเกตการแสดงอัตลักษณ์สถานีมุมจอในช่วงปีนั้น จะมีคำว่า DIGITAL อยู่ด้านล่างของตรา)

ในปี 2540 วิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ได้ส่งผลให้ ททบ. ต้องปรับโครงสร้างใหม่ จากนั้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2541 จึงได้ก่อตั้ง TGN หรือ Thai TV Global Network ออกอากาศใน 170 กว่าประเทศทั่วโลก ให้คนไทยในต่างประเทศได้รับชมรายการของไทยได้อย่างทั่วถึง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น