วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563

นาดาว มิวสิค ร่วมกับ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ สร้างเซอร์ไพรส์ รวมตัวกันครั้งแรก!! ในผลงานเพลง "มันดีเลย"

 


เตรียมตัวคึกคักรับปีใหม่ เมื่อ "นาดาว มิวสิค" ร่วมกับ "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" สร้างเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่กับการเปิดตัวซิงเกิลเพลง "มันดีเลย" โดย บริษัท เป๊ปซี่-โคลา (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายมันฝรั่งทอดกรอบ "เลย์" มาร่วมสนับสนุน โปรเจกต์สุดพิเศษในครั้งนี้ งานนี้ เบล-สุพล พัวศิริรักษ์ หนึ่งในทีมผู้บริหาร บริษัท นาดาว มิวสิค จำกัด และ โฟร์ (ประทีป สิริอิสสระนันท์) โปรดิวเซอร์ เตรียมเสิร์ฟความสุขให้แฟน ๆ ทุกคน ด้วยการรวมศิลปินสุดฮอตแห่งปี ได้แก่ เป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร ศิลปินจากค่าย white music จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, Billkin (บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล), PP (พีพี-กฤษฎ์ อำนวยเดชกร) และ PEARWAH (แพรวา-ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์) ศิลปินจากค่าย นาดาว มิวสิค มาสร้างปรากฏการณ์ความสุขในเพลง “มันดีเลย” เพลง POP จังหวะสนุก ที่มีกลิ่นอายดนตรี POP ยุค 70’s

 

 เบล-สุพล กล่าวว่า "จุดเริ่มต้นของเพลงมันดีเลย เริ่มจากทางเลย์มาชวนนาดาว มิวสิค ทำเพลง โดยที่เลย์มีพี่เป๊ก ผลิตโชค เป็นพรีเซนเตอร์หลักอยู่แล้ว เลยเป็นโอกาสที่ดีที่นาดาว มิวสิคจะได้ร่วมงานกับมืออาชีพอย่างพี่เป๊ก ซึ่งโปรเจกต์พิเศษแบบนี้ ทางทีมมองว่า น้อง ๆ จากนาดาวมิวสิคทั้งสามคน ไม่ว่าจะเป็น แพรวา, บิวกิ้น, พีพี น่าจะเหมาะกับการเป็นตัวแทนของความสดใส ถือเป็นการรวมตัวกันครั้งแรกของศิลปินทั้งสี่คน ซึ่งเพลงนี้พี่โฟร์มาเป็นโปรดิวเซอร์ พร้อมทั้งดูแล เรื่องการแต่งทำนองและเรียบเรียงดนตรี โดยเพลงนี้ได้พี่ปู๋-ปิยวัฒน์ มีเครือ มาช่วยเขียนเนื้อร้องให้ ตอบโจทย์ของเพลงที่มีความสนุก ถ่ายทอดฟิลลิ่งความสุขเวลาที่เพื่อน ๆ อยู่ด้วยกัน อะไรที่เคยทำคนเดียวที่ว่าดีแล้ว ถ้าได้ทำด้วยกันหลายคน ยิ่งดีกว่า เหมือนกับเพลงที่ชอบถ้าได้ฟังด้วยกัน น่าจะยิ่งเพราะ หนังเรื่องเดิม ถ้าได้ดูด้วยกัน ก็คงไม่น่าเบื่อ ซึ่งตัวเพลงจะมีกลิ่นอายดนตรี ของเพลงป๊อบในยุค 70 ที่ฟังง่าย มีเสียงปรบมือ มีเสียงคอรัส มีท่อนที่ร้องรวม มีท่อนที่ร้องรับส่งกันไปมา ถือเป็นอีกหนึ่งเพลงที่มีส่วนผสมค่อนข้างลงตัว รอติดตามชม Music Video ได้เร็วๆ นี้ ครับ"




#มันดีเลย
#NadaoMusicXPeckPalitchoke


*************
ข่าวประชาสัมพันธ์โดย งานดีทวีสุข มีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย
(PSKฺB-BLOG เป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์เท่านั้น)

วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2563

[บทความ] 15 ปี AKB48 กับไอดอลในตำนานที่สามารถไปพบได้ (ณ เธียเตอร์)

 

AKB48 ฉลองครบรอบ 15 ปี  
วันที่ 8 ธันวาคม 2563 ถือเป็นครบรอบ 15 ปี ของเธียเตอร์ AKB48 ถึงแม้จะไม่มีเธียเตอร์ฉลอง แต่ก็มีการปรับรูปแบบเป็นการพูดคุยผ่านวิดีโอคอลแทน

และก็มีประกาศสำคัญในช่วงต้นรายการก็คือ "คอนเสิร์ตครบรอบ 15 ปี" ที่โตเกียวโดมซิตีฮอลล์ โดยมีทั้งหมด 7 สเตจ รวมเวลาแสดง 15 ชั่วโมง โดยจัดระหว่างวันที่ 22 - 24 มกราคม 2564 โดยรวมสมาชิกทุกรุ่นไว้ด้วยกัน

แต่เมื่อพูดถึงครบรอบ 15 ปีทั้งที หลายคนอาจสงสัยว่า AKB48 คืออะไรกันแน่? บทความนี้มีคำตอบ

สมาชิกรุ่นแรกสุด

AKB48 (อ่านว่า เอ-เค-บี-โฟร์-ตี้-เอด ทับศัพท์: เอเคบีโฟร์ตีเอต) เป็นกลุ่มศิลปินหญิงที่เกิดจากแนวคิดของ ยาสึซิ อากิโมโตะ หรือ อากิพี ที่ตั้งแนวคิดของวงนี้ไว้ว่า "ไอนิอิเกรุ" หรือ "ไอดอลที่คุณสามารถไปพบได้" (Idols you can meet) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 2548 ทั้งนี้ในวันที่ 8 ธันวาคม ปีนั้น ได้มีการประกาศชื่อสมาชิกรุ่นแรกจำนวน 20 คน จากจำนวนกว่า 7,000 คน ซึ่ง 20 คนนั้นถือเป็นทีมเอ (Team A)

การเปิดการแสดงครั้งแรกในสเตจ "Party ga Hajimaru yo" มีผู้ชมการแสดงในวันนั้นจำนวน 7 คน หากไม่นับทีมงานหรือสื่อใดๆ หลังจากนั้นจำนวนผู้ชมการแสดงก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้ซิงเกิลเปิดตัวอย่าง "Sakura no Hanabiratachi" เพลงในตำนานที่บ่งบอกถึงการจบการศึกษาและการเข้าสู่ผู้ใหญ่ วางแผงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ทำยอดขายได้ถึง 22,011 แผ่นในสัปดาห์แรก ติด 10 อันดับแรกของชาร์ตออริคอนประจำสัปดาห์ และอยู่ในชาร์ตถึง 8 สัปดาห์

เดือนตุลาคมปีเดียวกัน AKB48 ได้ออกซิงเกิลกับค่ายเดฟสตาร์ในชื่อ "Aitakatta" (ไอตากัตตะ) หลังจากนั้นจึงได้ปล่อยซิงเกิลมาอีกหลายเพลง และเริ่มมีกิจกรรมต่างๆ เช่น คอนเสิร์ต, กีฬาสี, การเลือกตั้งเซ็มบัตสึ, การแข่งเป่ายิ้งฉุบ (จังเก้น) เป็นต้น

ในปี 2551 AKB48 ได้เปลี่ยนการออกซิงเกิลมาให้กับค่ายคิงส์เรดคอร์ด ตั้งแต่ซิงเกิลที่ 10 "Oogoe Diamond" (โอโกเอะไดมอนด์)  และจากนั้นจึงมีสมาชิกเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการตั้งทีม K ในเดือนเมษายน 2006, ทีม B ในปี 2550, ทีม 4 ในปี 2554 เคยยุบในสิ้นเดือนตุลาคมปี 2555 และกลับมาตั้งใหม่ในเดือนสิงหาคม ปี 2556

ในปี 2557 ก่อตั้งทีม 8 ขึ้น ซึ่งทีมนี้มีความพิเศษคือ เป็นทีมที่ได้รับการสนับสนุนจากโตโยต้า และสมาชิกในทีมมาจากตัวแทนของทั้ง 47 จังหวัดทั่วญี่ปุ่น นั่นหมายความว่า ทีมนี้จะมีสมาชิกเกิน 47 คนไม่ได้ ต้องมีจังหวัดละ 1 คน เสมอ

ด้านวงน้องสาว AKB48 ได้ตั้งวงน้องสาวแรกที่นาโงยะ จังหวัดไอจิ ในชื่อ SKE48 เมื่อปี 2551 จากนั้นจึงตั้งวงน้องสาวอีกวงที่โอซากะในชื่อ NMB48 เมื่อปี 2553 และได้ตั้งวงน้องสาวนอกญี่ปุ่นครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซีย JKT48 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554

สำหรับประเทศไทยนั้น AKB48 เยือนเมืองไทยครั้งแรกเมื่อปี 2558 โดยทำการแสดงในงาน Japan Expo Thailand 2015 ที่เซ็นทรัลเวิลด์ และในปี 2561 สมาชิก AKB48 เยือนเมืองไทยอีกครั้ง และได้เข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 กันยายน ในปีนั้น

อนึ่ง ในปี 2559 ได้มีการจัดตั้งวงน้องสาวในประเทศไทยครั้งแรกในนาม BNK48 ตั้งที่กรุงเทพมหานคร และในปี 2561 ตั้งวงน้องสาวอีกแห่งในไทยโดยมีชื่อว่า CGM48 ตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ ถือเป็นวงน้องสาวนอกประเทศวงแรกที่เป็นวงสาขาของทั้ง AKB48 และ BNK48 ที่ต้นสังกัดอย่าง AKS (ปัจจุบันคือ Vernalossom) อนุญาตให้ทำได้

เอกลักษณ์ของกลุ่ม 48 Group คือแนวคิดที่แตกต่างจากไอดอลอื่น คือ มีโรงละครเป็นของตนเองที่เปิดโอกาสให้สมาชิกผลัดเปลี่ยนกันขึ้นแสดงในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ยังมี "งานจับมือ" ที่แฟนคลับสามารถจับมือกับสมาชิกที่ชื่นชอบเป็นเวลาครั้งละ 8 วินาที

ปัจจุบัน (ณ เดือนธันวาคม 2563) AKB48 มีสมาชิก 100 คน (สมาชิกควบทีม 29 คน) ขณะที่รวมสมาชิกในญี่ปุ่น 6 วง มีทั้งสิ้น 350 คน ส่วนวงน้องสาวต่างประเทศมี 327 คน รวม 677 คน

นี่เป็นแค่บางส่วนของเหตุการณ์สำคัญตลอด 15 ปี ของ AKB48 เท่านั้น หลังจากนี้แล้ว AKB48 จะเป็นอย่างไร ถึงแม้ปีนี้ จะเป็นปีที่เผชิญโควิด-19 และทำให้ AKB48 อยู่ในช่วงขาลง อย่างไรก็ดี 48 Group ก็ยังดำเนินต่อไป หากมีผู้คอยสนับสนุน ซัพพอร์ตพวกเธออยู่ก็คือ "โอตะ" หรือแฟนคลับนั่นเอง

อ้างอิง:-

  • https://prachasangkhroh.fandom.com/th/AKB48
  • http://stage48.net/wiki/index.php/AKB48
  • https://travel.trueid.net/detail/qbAXxabbeV4
  • AKB48総選挙公式ガイドブック 2018 (2018). Japan: Kodansha.